Published on ISSUE 14
จะเรียกพวกมันว่าหมาป่าก็คงไม่เชิง แต่มันคือสุนัขในตระกูล Jackals ที่ได้แยกสายวิวัฒนาการออกมาจากหมาป่าเมื่อเนิ่นนานมากแล้ว ถึงกระนั้น ก็ยังจัดว่าพวกมันมีรูปร่างลักษณะที่ใกล้เคียงกับหมาป่ามาก

Golden Jackal : สุนัขเทพเจ้าผู้พิทักษ์มัมมี่แห่งอียิปต์

เรื่อง howl the team ภาพ : ชาพีช

“อียิปต์” คือหนึ่งในผู้เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่โบราณมากที่สุดของโลก

ชาวอียิปต์โบราณคือผู้ที่ทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นสิ่งก่อสร้างอันอลังการอย่าง “พีระมิด” และเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องการเก็บรักษาร่างคนตายไว้ด้วยการชะโลมน้ำยาสมุนไพรและพันผ้า หรือที่เรียกว่า “มัมมี่” ที่ต้องทำดั่งนี้ ก็เพื่อให้ศพมีกลิ่นหอมฟุ้งกระจายจนไปต้องโสตจมูกของเทพเจ้า “Anubis” เทพผู้มีร่างเป็นมนุษย์ แต่มีหัวเป็นสุนัข Golden Jackal ผู้ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า จะช่วยนำวิญญาณของคนตายไปสู่ภพภูมิสวรรค์ และจะคอยปกปักษ์รักษาร่างของคนผู้นั้นไว้ ดังเราจะเห็นได้ว่ามีภาพจารึกของเทพ Anubis นี้อยู่บนแผ่นศิลาหน้าสุสานมัมมี่ของชาวไอยคุปต์

ไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดสุนัข Golden Jackal จึงเป็นที่มาของตำนานเทพอันเก่าแก่ของมนุษย์ นั่นก็เพราะพวกมันมีบรรพบุรุษที่เก่าแก่พอกัน ซึ่งจะเรียกพวกมันว่าหมาป่าก็คงไม่เชิง แต่มันคือสุนัขในตระกูล Jackals ที่ได้แยกสายวิวัฒนาการออกมาจากหมาป่าเมื่อเนิ่นนานมากแล้ว ถึงกระนั้น ก็ยังจัดว่าพวกมันมีรูปร่างลักษณะที่ใกล้เคียงกับหมาป่ามาก มีขนลำตัวสีน้ำตาลทองสมชื่อ ยกเว้นขนที่บริเวณหลังจะมีสีปนกันระหว่างดำ น้ำตาล และขาว น้ำหนักตัวราว 8-11 กิโลกรัม เราสามารถพบพวกมันได้ตามธรรมชาติตั้งแต่แถบเหนือของทวีปแอฟริกา เรื่อยมาจนถึงตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และพม่า

อาหารของพวก Golden Jackal จะแตกต่างกันไปตามลักษณะทรัพยากรในภูมิประเทศที่พวกมันอาศัยอยู่ เรียกว่าพวกมันกินได้ตั้งแต่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก กิ้งก่า งู นก กระต่าย ไปจนถึงพวกกาเซล โดยทั้งเพศผู้และเพศเมียจะมีส่วนสำคัญในการรักษาอาณาเขตการล่าเหยื่อและเลี้ยงลูกพอๆ กัน พวกมันสามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งในทะเลทราย ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม หรือในป่าฝนเขตร้อนชื้น

เสียงหอนของสุนัข Golden Jackal นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น พวกมันจะใช้เสียงหอนที่มีความซับซ้อนเพื่อสื่อสารกัน ดังที่ชาวอินเดียมักจะได้ยินบ่อยในยามค่ำคืนของเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน อันเป็นฤดูผสมพันธุ์ของพวกมันนั่นเอง

ปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่เขตอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติที่ให้ความคุ้มครอง Golden Jackal กันมากขึ้น เนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากรของพวกมันในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามในประเทศอินเดียพวกมันยังคงเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้าและไข้หัดสุนัขที่อาจติดต่อมายังสุนัขบ้านได้ จึงอาจต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะจัดการไม่ให้สุนัขเทพเจ้าผู้ปกป้องคุ้มครองคนตาย นำความตายมาสู่ผู้คนเสียเอง