Web Exclusive
สุนัขพันธุ์นี้เอาชีวิตรอดจากความโหดร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยความโชคดีที่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในหุบเขาลึกทำให้พวกมันยังคงถูกเลี้ยงจากนายพรานเพื่อช่วยล่าสัตว์และยังคงสืบสายเลือดต่อมาได้

Kishu-Ken : ผู้สืบทอดสายเลือดตำนานหมาป่า

เรื่อง : howl the team

หากธรรมชาติมีชีวิตพวกเขาก็คือสิ่งนั้น

นานมาแล้วในเรื่องเล่าปรำปรา ยามที่ธรรมชาติและมนุษย์ยังคงสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ได้มีหมาป่าตัวหนึ่งบาดเจ็บ เมื่อมนุษย์มาเห็นเข้าจึงได้ให้ความช่วยเหลือก่อนที่หมาป่าตัวนั้นจะมอบของขวัญให้เป็นการตอบแทน สิ่งนั้นคือสุนัขผู้สืบสายเลือดจากหมาป่าตนนั้นที่ต่อมาถูกขนานนามว่า Kishu-Ken นั่นเอง

Kishu-Ken เป็นสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมานานกว่า 3000 ปี ในแถบ Kyushu ซึ่งในปัจจุบันคือเขต Mie และ Wakayama สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกใช้เป็นสุนัขนักล่าโดยสามารถช่วยนายพรานล่าได้ทั้งหมูป่าและหมี มีจุดเด่นคือ Kishu-Ken จะถูกฝึกให้ล่าโดยเมื่อจับเหยื่อได้แล้วจะจับกดลงกับพื้นจนขยับไม่ได้ เพื่อรอให้มนุษย์มาจับไป ด้วยความสามารถการล่าที่ยอดเยี่ยมนี้ทำให้ในปัจจุบันยังมีนายพรานญี่ปุ่นใช้สุนัขพันธุ์นี้ในการเป็นสุนัขนักล่าอยู่ด้วยเช่นกัน

สุนัขสายพันธุ์นี้เป็นสุนัขญี่ปุ่นขนาดกลาง มีขนาดใหญ่กว่าชิบะและเล็กกว่าอาคิตะ จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือสุนัขพันธุ์นี้มักจะมีขนสีขาวสะอาดทั้งตัว แต่ถึงกระนั้นก็สามารถพบ Kishu-Ken สีอื่นๆ ได้เช่นกันเพียงแต่ว่าพบได้ไม่บ่อยนัก จริงๆ แล้วในอดีต Kishu-Ken ถูกแบ่งออกเป็นสองชื่อเรียกตามสถานที่ที่พบคือ Kumano-Ken และ Taichi-Ken แต่ในปัจจุบันถูกเรียกรวมทั้งหมดว่าเป็น Kishu-Ken

สายเลือดความเป็นสุนัขนักล่ายังคงอยู่ในตัว Kishu-Ken อย่างเต็มเปี่ยมผ่านรูปร่างที่แข็งแรงไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ และพลังงานในตัวที่ล้นเหลือ มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะนิสัยที่น่าสนใจคือให้ความรักและรับคำสั่งจากเจ้าของเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ในครอบครัวเจ้าของ น้องหมาพันธุ์นี้อาจจะไม่ทำตามคำสั่งเท่าที่ควร

สุนัขพันธุ์นี้เอาชีวิตรอดจากความโหดร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยความโชคดีที่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในหุบเขาลึกทำให้พวกมันยังคงถูกเลี้ยงจากนายพรานเพื่อช่วยล่าสัตว์และยังคงสืบสายเลือดต่อมาได้ โดยในปี 1934 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้ Kishu-Ken เป็นสมบัติแห่งชาติเพื่อคุ้มครองสุนัขสายพันธุ์นี้

แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน Kishu-Ken มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าตกใจ จากจำนวนที่ขึ้นทะเบียนในปี 2011 มีประมาณ 1000 ตัว แต่ในปี 2017 กลับเหลือเพียงแค่ 300 ตัวเท่านั้น ทำให้น่าเป็นห่วงว่าสายพันธุ์สุนัข Kishu-Ken จะหายไปหรือไม่ บางทีนี่อาจเป็นโชคชะตาที่หมุนวงรอบกลับมาที่เก่า เมื่อถึงเวลาที่มนุษย์ต้องยื่นมือมาช่วยสุนัขผู้สืบทอดสายเลือดหมาป่าจากอดีตกาลที่กำลังบาดเจ็บนี้ให้กลับมาแข็งแรงดีดังเดิม เช่นเดียวกับตำนานที่ถูกเล่าขานไว้อีกครั้ง