Published on ISSUE 4
ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาเหมือนกระต่าย ผสมหนู ผสมกระรอก ลักษณะนิสัยนั้นก็เหมือนเอาข้อดีของกระต่าย หนูกระรอก มาผสมกันเหมือนกัน คือ เป็นสัตว์กินง่ายเหมือนหนู แค่ระวังเรื่องน้ำ มีความเป็นมิตรและเชื่องเหมือนกระต่าย และร่าเริง ซุกซน ชอบปีนป่ายกระโดดเหมือนกับกระรอก

Chill with the Chinchilla

เรื่องและภาพ : howl the team

พิชชุดา สวัสดิสุข เจ้าของฟาร์มชินชิลล่าแห่งแรกในประเทศไทย

 

“นี่ตัวอะไรเหรอคะ”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ พิชชุดา สวัสดิสุข – คุณเชอร์รี่ เจ้าของฟาร์มชินชิลล่าแห่งแรกในประเทศไทยได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความที่ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างแปลกตา มีหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงระหว่างส่วนผสมกระต่าย กระรอก และหนู ทำให้ใครหลายคนไม่ค่อยมั่นใจว่านี่คือตัวอะไรกันแน่

ชินชิลล่าเป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดแถบภูเขาในดินแดนอเมริกาใต้ ชอบอากาศเย็น ด้วยความที่มีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งหน้าตาน่ารักและขนที่นุ่มฟู ทำให้ใครต่อใครหลายคนหลงรักสัตว์ชนิดนี้อย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับคุณพิชชุดา ที่เธอบอกว่าหลงรักชินชิลล่าตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น

“โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบสัตว์จำพวกสัตว์ฟันแทะเป็นพิเศษตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เคยเลี้ยงแฮมสเตอร์มาก่อน จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเราไปซื้อของใช้ให้แฮมสเตอร์ที่ร้านขายของสัตว์เลี้ยงที่สนิทกันตามปกติ แล้วก็เจอกับชินชิลล่าอยู่ในตู้โชว์ เราถามว่านั่นตัวอะไร เขาบอกว่านั่นเป็นชินชิลล่า แล้วก็ลองให้เราจับ สัมผัสแรกคือความประทับใจ เพราะขนเขานุ่มมาก บางทีนั่นอาจเป็นรักแรกพบระหว่างเราก็ได้”

ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นที่ชินชิลล่าเริ่มเข้ามาในประเทศไทยพอดี ทำให้คุณเชอร์รี่ค่อยๆ ศึกษาเรื่องราวของสัตว์ชนิดนี้มาเรื่อยๆ และพบว่าชินชิลล่าแม้จะเป็นสัตว์เมืองหนาวแต่ก็สามารถปรับสภาพร่างกายให้อยู่ในเมืองไทยได้ ทำให้ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลี้ยงชินชิลล่าตัวแรก

เมื่อมีตัวแรกก็ต้องมีตัวที่สอง จากการหาคู่ให้ชินชิลล่าที่เลี้ยงไปเรื่อยๆ พอมารู้ตัวอีกทีคุณเชอร์รี่ก็บอกว่ามีชินชิลล่าอยู่ในบ้านของเธอเกือบ 20 ตัวแล้ว จนเพื่อนคนหนึ่งที่เปิดฟาร์มกระต่ายอยู่มาเห็นเข้า ก็เลยเสนอแนะว่าถ้ามีมากขนาดนี้ทำไมไม่ลองเปิดเป็นฟาร์มชินชิลล่าไปเลย

“เพื่อนที่ทำฟาร์มกระต่ายเห็นเราเลี้ยงชินชิลล่าไว้เยอะ ก็เลยแนะนำว่าถ้าชอบและมีเยอะขนาดนี้ทำไมไม่ลองเปิดเป็นฟาร์มล่ะ การเปิดเป็นฟาร์มไม่ได้หมายความว่าต้องเพาะขายอย่างเดียว อย่างน้อยก็เป็นฟาร์มเพื่อให้เป็นแหล่งให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเวลาที่ใครสนใจอยากซื้อเด็กๆ ก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องไป”

หลังจากที่เปิดตัวในงาน Pet Expo ไปแล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คุณเชอร์รี่คิดไว้มาก มีคนสนใจอยากเลี้ยงชินชิลล่ามากมาย จนกระทั่งเธอต้องตัดสินใจนำเข้าชินชิลล่าจากฟาร์มคุณภาพในต่างประเทศเพื่อผู้เลี้ยงเพิ่มเติม จากแต่เดิมที่มีแค่ลูกในฟาร์มเพียงอย่างเดียว

เราสังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่คุณเชอร์รี่พูดถึงชินชิลล่า มักจะแทนด้วยคำว่า “เด็กๆ” เมื่อเราถามว่าทำไมถึงชอบเรียกแบบนั้น คุณเชอร์รี่ก็หัวเราะแล้วบอกว่าสำหรับเธอ เธอมองว่าชินชิลล่ามีส่วนคล้ายกับเด็กตัวเล็กๆ

“เขามีความขี้อ้อนและเอาแต่ใจอยู่ในตัวนะ เหมือนกับเด็กตัวเล็กๆ จำได้ว่าตัวแรกที่เลี้ยงเพราะเราเลี้ยงเขาตัวเดียวทำให้เขาติดเรามาก ชอบอ้อนเรา แล้วตัวนั้นเป็นตัวผู้ด้วย ดังนั้นเขาจะรักเรามาก แต่ก็เกลียดแฟนเรามากเช่นกัน เขาชอบมาคลอเคลียมาเล่นกับเรา แต่ถ้าแฟนเรามาจะกระโดดถีบอย่างเดียวเลย จะเรียกว่าหึงก็ได้นะ บางทีพอแฟนนั่งอยู่เฉยๆ ก็วิ่งเข้าไปกระโดดถีบก็มี”

“หรือบางทีเขาก็ทำท่าเหมือนหยิ่งๆ เอาแต่ใจเหมือนกับแมวด้วย เวลาเพื่อนมาที่บ้าน ถ้าเรียกให้มาเล่นด้วยเขาจะไม่มา แต่ถ้านั่งเฉยๆ ไม่สนใจ เขาก็มาเรียกร้องความสนใจบ้าง อย่างมาขโมยปากกา ทำให้เพื่อนที่มาบ้านรู้แล้วว่าถ้าอยากให้มาสนใจต้องทำเป็นเฉยๆ เดี๋ยวน้องเขาก็จะมาหาเอง”

 

IMG_7432

 

ด้วยความที่ทั้งแปลกและน่ารัก ทำให้ชินชิลล่าเองก็ต้องมีการเลี้ยงดูที่พิเศษกว่าสัตว์ฟันแทะชนิดอื่นๆ เช่นกัน โดยเรื่องที่ต้องให้ความระวังมากที่สุดคือเรื่องของอากาศร้อน แม้ชินชิลล่าจะปรับสภาพให้เข้ากับอากาศเมืองไทยได้ แต่ก็ต้องไม่ร้อนจนเกินไปและถ่ายเทสะดวก รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินและลักษณะนิสัยเฉพาะอีกด้วย

“ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาเหมือนกระต่าย ผสมหนู ผสมกระรอก ลักษณะนิสัยนั้นก็เหมือนเอาข้อดีของกระต่าย หนูกระรอก มาผสมกันเหมือนกัน คือ เป็นสัตว์กินง่ายเหมือนหนู แค่ระวังเรื่องน้ำ มีความเป็นมิตรและเชื่องเหมือนกระต่าย และร่าเริง ซุกซน ชอบปีนป่ายกระโดดเหมือนกับกระรอก”

รวมไปถึงคนที่อยากเลี้ยงก็ควรมีความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของชินชิลล่าเช่นกัน อย่างที่ความตั้งใจของคุณเชอร์รี่ที่บอกว่าอยากเปิดฟาร์มเพื่อให้เป็นเหมือนแหล่งให้ความรู้แก่คนที่สนใจในความเป็นชินชิลล่า ซึ่งเธอบอกว่าถึงใครที่ไม่ซื้อก็มาแวะเยี่ยมชมหรือถามคำถามอะไรก่อนก็ได้ เพื่อที่จะเข้าใจและเตรียมพร้อมก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงชินชิลล่าสักตัว

“บางคนเข้ามาในฟาร์มแล้วบอกว่า โหย มีกลิ่น ขนาดแค่นี้มีกลิ่นก็แสดงว่าต้องกลับไปคิดให้ดีแล้วว่ายอมรับกลิ่นระดับนี้ไหวไหม ความจริงแล้วสัตว์ทุกตัวมีกลิ่นหมด เราเองยังมีกลิ่นเลย แต่กลิ่นมากกลิ่นน้อยก็แล้วแต่ แต่โดยส่วนตัวถ้าถามว่าชินชิลล่ามีกลิ่นไหม สำหรับเรากลิ่นขนาดนี้ถือว่าไม่มีกลิ่นแล้วเพราะว่าไม่ฉุนไม่เหม็น บางคนก็ว่าเรื่องขนร่วง ยังไงก็ต้องมีขนร่วงอยู่แล้ว ขนาดสุนัขขนสั้นยังขนร่วงเลย ซึ่งถ้าคิดจะเลี้ยงเขาก็ต้องยอมรับตรงจุดนี้ให้ได้”

การที่จะเลี้ยงสัตว์สักตัวคือความรับผิดชอบ ที่เราควรมีให้เขาตลอดชีวิต อย่างที่คุณเชอร์รี่ว่าไม่ใช่เพียงแค่ชินชิลล่า หากแต่หมายถึงสัตว์เลี้ยงทุกประเภท อย่าเห็นเพียงแค่ว่าน่ารักแล้วซื้อมาเลี้ยง

“เดี๋ยวนี้มีคนเลี้ยงสัตว์ตามกระแสนิยมอยู่มาก อย่างเราที่เป็นคนเลี้ยงสัตว์จริงๆ จะรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์ตัวหนี่งไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ง่ายเลย ดังนั้นเวลาก่อนจะซื้อสัตว์มาเลี้ยง เราต้องดูตัวเองก่อนว่าเราพร้อมหรือเปล่าดีกว่า การเลี้ยงสัตว์จริงๆ ไม่ได้จบแค่การให้อาหาร เราต้องเอาใจใส่ เราต้องดูแล เวลาเขาไม่สบายเราต้องดูแลเขาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นจิตสำนึกที่คนที่ก่อนจะซื้อสัตว์เลี้ยงควรมีให้มากๆ”

“สัตว์ก็มีหนึ่งชีวิตเหมือนเรา การจะเลี้ยงสัตว์ซักตัวอย่างน้อยก็ควรมั่นใจว่าเราจะดูแลเขาได้ตลอดชีวิต ต่อให้วันหนึ่งเขาจะไม่สวย ไม่น่ารักเหมือนตอนเป็นเด็กๆ ก็ไม่เอาไปปล่อยวัด ไม่งั้นก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคม การช่วยให้สังคมดีขึ้นไม่ต้องเริ่มที่การทำยิ่งใหญ่อะไรเลย แค่เริ่มต้นที่ตัวเราไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมมากขึ้นก็พอแล้ว”

ถ้าเราทำได้ ทั้งสังคม ทั้งสัตว์เลี้ยง และตัวเราเองก็คงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข