Published on ISSUE 4
ความจริงแค่ได้เลี้ยงพวกเขาทั้ง 2 ตัว เราก็สุขใจและอบอุ่นเทียบเท่าการเลี้ยงสัตว์อื่นแล้วนะ เป็นความสุขที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นด้วยกันเหมือนสุนัข หรือได้เล่นด้วยกันเหมือนแมว แต่แค่กลับบ้านแล้วได้เห็นหน้า 2 ตัวนี้ ก็หายเครียดแล้ว

Inside the Small World

เรื่องและภาพ : howl the team

บทสัมภาษณ์สัตวแพทย์หญิงผู้หลงรักโลกใบเล็กของหนูแกสบี้

 

แค่พูดคำว่า “หนู” เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเตรียมขนลุกด้วยความสยองกันแล้ว

ดังนั้นคำว่า “เลี้ยงหนู” จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ สำหรับคนที่คิดจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี ในวงการสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันนั้น หนูชนิดต่างๆ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น และภาพลักษณ์ของหนูที่มาเป็นสัตว์เลี้ยงนั้นก็ต่างจากภาพจำของหนูที่เราเคยผ่านมาโดยสิ้นเชิง

หนูหลายชนิดทั้งหนูแฮมสเตอร์ หนูแกสบี้ หรือแม้กระทั่งหนูเจอร์บี้ เริ่มกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ให้กับคนที่อยากเลี้ยงสัตว์เลี้ยง แต่มีพื้นที่จำกัดเกินกว่าที่จะเลี้ยงสุนัขหรือแมว ด้วยความที่ตัวเล็ก หน้าตาน่ารัก และพฤติกรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวทำให้คนในยุคนี้เริ่มหันมามี “อีหนู” กันมากขึ้น

แต่สำหรับเจ้าของอีหนูที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับเราในครั้งนี้ไม่ใช่อาเสี่ยหรือป๋ามาดพุงพลุ้ยแต่อย่างใด หากแต่เป็นสัตวแพทย์หญิงคนสวยที่มาพร้อมกับหนูแกสบี้คู่ใจ 2 ตัว ที่มีชื่อว่า ฮะเก๋า กับ หมูยอ ซึ่งจะมาบอกเล่าเรื่องราวของเธอและสายสัมพันธ์ในโลกใบเล็กของหนู 2 ตัวนี้

หากให้แนะนำตัวพอสังเขป สพ.ญ.ปรารถนา ตัญญะปัญญาชน – หมอปลา เป็นนิสิตระดับปริญญาโท-เอก ภาคสูติศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพ่วงด้วยตำแหน่งเป็นเจ้าของหนูแกสบี้ 2 ตัว ที่ตอนนี้เลี้ยงมาได้กว่า 5 ปีแล้ว

“ต้องบอกว่าใจจริงเป็นคนที่อยากเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว เป็นคนจิตใจดีงามค่ะ”คุณหมอปลาปล่อยมุกตั้งแต่เริ่มบทสนทนากับพวกเรา “ตอนแรกอยากเลี้ยงสุนัขแต่เพราะทั้งภาระการเรียนและการงานทำให้ดูแลเขาได้ไม่ดี เวลาเลี้ยงไม่พอ จึงลองหาสัตว์ชนิดอื่นที่ดูแลได้ง่ายกว่า และมาลงเอยที่หนูแกสบี้ ซึ่งมีทั้งความน่ารักและขนาดตัวไม่ใหญ่มาก ทำให้เราเชื่อว่าสามารถดูแลเขาได้เต็มที่”

คุณหมอปลาเล่าให้เราฟังว่าความจริงคุณแม่เป็นคนที่ไม่ชอบสัตว์เลี้ยง แม้แต่ตอนที่บอกว่าจะเลี้ยงหนูแกสบี้ก็ยังค้านอยู่ แต่หลังจากที่ได้พาทั้ง ฮะเก๋า และหมูยอ มาเลี้ยงในบ้าน ตอนนี้เธอบอกว่าคุณแม่เป็นห่วงหนู 2 ตัวนี้ มากกว่าเธอเองเสียอีก

“เดี๋ยวนี้พอคุณแม่กลับมาจากการทำงาน ก็จะถามว่ากินข้าวหรือยัง ไม่ได้หมายถึงเรานะ แต่หมายถึงหนูว่ากินข้าวแล้วหรือยัง เรียกได้ว่าตอนนี้หนูสำคัญกว่าตัวเองจริงๆ แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเราไม่ให้อาหารหนูก็ยังไม่มีสิทธิ์กินข้าวเย็นอีกด้วย”คุณหมอปลาพูดพลางหัวเราะยาว

เมื่อถามถึงสเน่ห์ของหนูที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นนั้น เธอบอกว่าความจริงแล้วหนูเป็นสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสุนัขและแมว เพราะสุนัขและแมวอาจจะมีเวลามาเอาอกเอาใจกับเราบ้าง แต่สำหรับหนูนั้นมักไม่ค่อยมีช่วงเวลาแบบนั้นสักเท่าไหร่ เธอบอกแบบติดตลก (อีกครั้ง) ว่า ขนาดเลี้ยงมา 5 ปี ทั้งฮะเก๋าและหมูยอจะจำเธอได้ก็ต่อเมื่อถืออาหารมาให้เท่านั้น

“ถึงหนูจะจำเราไม่ค่อยได้ก็ตาม แต่ความจริงแค่ได้เลี้ยงพวกเขาทั้ง 2 ตัว เราก็สุขใจและอบอุ่นเทียบเท่าการเลี้ยงสัตว์อื่นแล้วนะ เป็นความสุขที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นด้วยกันเหมือนสุนัข หรือได้เล่นด้วยกันเหมือนแมว แต่แค่กลับบ้านแล้วได้เห็นหน้า 2 ตัวนี้ ก็หายเครียดแล้ว”

 

IMG_7075

 

ถึงแม้ว่าหนูจะเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก แต่การเลี้ยงพวกเขานั้นก็ไม่ใช่เรื่องเล็กตามแต่อย่างใด เพราะด้วยความที่หนูเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเปราะบาง เวลาป่วยแล้วมักจะทรุดเร็ว ทำให้คุณหมอปลาบอกว่าต้องคอยดูแลและสอดส่องสุขภาพของพวกเขาให้ดี เพราะถ้าพลาดไปวันเดียวหรือในบางครั้งแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็อาจหมายถึงไม่มีโอกาสได้กลับมาแก้ไขอะไรอีกแล้ว

“สองตัวนี้เคยป่วยหนักเมื่อตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นช่วงอากาศร้อนจัด วันหนึ่งพอเรากลับมาถึงบ้านเห็นหนูนอนซมอยู่ เลยรีบพาไปที่โรงพยาบาลสัตว์จุฬาฯ พอตรวจแล้วพบว่าฟันมีปัญหานิดหน่อย และปอดทำงานได้ไม่ค่อยดี และเพราะอากาศร้อนเลยทำให้อาการเป็นหนักขึ้น ตอนป่วยพวกมันน่าสงสารมันมากเลย เพราะต้องป้อนข้าวให้มันทุกๆ 2 –  3 ชั่วโมง เพราะตามธรรมชาติของมันต้องกินตลอดเวลา พอเราป้อนไปเห็นท่าทางมันไม่ค่อยดีก็อยากจะร้องไห้ แต่ในที่สุดพออาการดีขึ้นก็ดีใจ”

“แต่ทุกครั้งเราไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นภาระเลยนะ รู้สึกว่าเราอยากให้มันหาย เราอยากให้มันสุขภาพดี แล้วอยู่เป็นเพื่อนกับเราไปนานๆ”

แน่นอนว่าการเลี้ยงหนูก็ย่อมมีประสบการณ์ที่น่าจดจำแตกต่างไปจากสุนัขและแมวเช่นกัน อย่างในกรณีของคุณหมอปลา เธอบอกว่าสองตัวนี้เอาแต่ใจมาก ถ้าอาหารไม่อร่อยจะไม่กิน เคยถึงขนาดปอกแอปเปิ้ลให้ แล้วถ้าแอปเปิ้ลไม่หวานพวกนี้ก็จะเมินด้วยซ้ำ

และอีกเรื่องที่เธอคนนี้ในฐานะสัตวแพทย์และคนเลี้ยงหนูอยากจะฝากไว้ให้คนที่เลี้ยงหนูหรือกำลังคิดจะเลี้ยงหนูคืออยากให้ศึกษาจนเข้าใจวิถีชีวิตและแนวทางการดูแลเขาให้ดีก่อน เพราะพวกเขามีระบบร่างกายที่ต่างมนุษย์ ทำให้บางครั้งเราใช้สามัญสำนึกของเราคิดแทนไม่ได้

“เราเคยเห็นคนเลี้ยงหนูตะเภาในกรงหนูแฮมสเตอร์มาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีเลย เพราะกรงเล็กไป พื้นที่น้อยไป หรือบางทีเราก็เห็นคนเลี้ยงหนูตะเภาปนกับกระต่าย นี่ก็เป็นเรื่องทีไม่ควรอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะกระต่ายมีเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อกระต่าย แต่เป็นอันตรายต่อสัตว์ฟันแทะอื่นๆ”

“รวมไปถึงเรื่องการให้อาหารอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมกับชนิดของสัตว์ด้วย เราเคยเห็นคนให้ขนมปัง มันฝรั่งทอด หรืออื่นๆ ให้แกสบี้กิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำเลย เพราะจะทำให้มันป่วยได้ในที่สุด เราควรให้อาหารที่เหมาะกับเขาจริงๆ อย่างพืชหรือผักก็ต้องเป็นแบบที่เขากินได้ อาหารเม็ดก็ต้องเป็นอาหารเม็ดของมันจริงๆ ต้องให้ชัวร์จริงๆ ว่ามันกินได้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ควรมองข้าม”

สุดท้ายเมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้อยู่ร่วมกันมาระหว่างหนูแกสบี้ 2 ตัวนี้ เธอก็ยิ้มแล้วบอกกับเราว่าหนู 2 ตัวนี้เป็นเหมือนกับสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวเธอไปแล้ว มีหลายต่อหลายครั้งที่เคยเครียดและร้องไห้กับหนู 2 ตัวนี้ แม้จะรู้ว่าหนู 2 ตัวนี้ไม่เข้าใจหรอกว่าเรากำลังทุกข์เรื่องอะไร แต่กลับรู้สึกสบายใจขึ้น อาจเป็นเพราะรู้สึกว่ามีใครบางคนคอยอยู่เคียงข้างเรา

หรืออาจพูดได้เต็มปากว่าโลกใบเล็กของเขา ช่วยเติมเต็มโลกใบใหญ่ของเราให้สมบูรณ์นั่นเอง