Published on ISSUE 6
สำหรับเรา เจแปนเป็นเหมือนกับเพื่อน เป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว ทุกช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันคือความสุขของเรา แม้ต้องพาเขาไปหาหมอบ่อยๆ ดูแลคอยช่วยเหลือเขา ก็ไม่เคยรู้สึกโกรธหรือเหนื่อยเลย เพราะมันคือการร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน

Heart of the Gold : เจแปนกับการต่อสู้จากหัวใจเพื่อหัวใจ

เรื่องและภาพ : howl the team

เรื่องราวการต่อสู้ด้วยหัวใจเพื่อหัวใจร่วมกันของเจแปนและคุณณภัค ภักดีอิสรา

 

หากพูดถึงชื่อ “เจแปน” แล้ว ในนาทีนี้คงมีหลายใครหลายคนรู้จัก “เจแปน” สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ หน้าตาน่ารักน่ากอด ผู้มีแฟนเพจเป็นของตัวเองที่มีคนกดไลค์เกือบ 50,000 คน ตัวนี้แน่ๆ

โดยหากใครเคยติดตามเรื่องราวในเพจของเจแปนมาบ้าง จะพบว่าเจแปนเป็นสุนัขที่ร่าเริง ชอบทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ด้วยความตลกและน่ารักแสนรู้ของเจแปนเป็นเสน่ห์ให้ใครต่อใครหลายคนตกหลุมรักสุนัขตัวนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังรอยยิ้มของเจแปน สุนัขขี้เล่นตัวนี้จะเคยเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์โรคหัวใจครั้งใหญ่ และเป็นสุนัขตัวแรกที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจ PDA ด้วยการสอดอุปกรณ์แก้ไขทางหลอดเลือดสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแป้น-ณภัค ภักดีอิสรา เจ้าของเจแปน ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเจแปนกับโรคหัวใจ ที่กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้เจแปนต้องฟันฝ่าอะไรมาบ้าง และเรื่องราวการผ่าตัดแก้ไขโรค PDA ในสุนัขครั้งแรกของประเทศไทย

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการต่อสู้ของเจแปนเพียงอย่างเดียว แม้ว่าคุณณภัคจะไม่ได้บอกกับพวกเรา แต่เราก็รู้ดีว่าเธอคนนี้ก็เป็นคนที่ร่วมต่อสู้เคียงข้างกับเจแปน เผชิญหน้ากับความยากลำบากและหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวคือให้เจแปนมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

นี่คือเรื่องราวการต่อสู้จากหัวใจสู่หัวใจ

ที่น่าประทับใจไม่แพ้ความน่ารักของเจแปนเลย

 

IMG_7047-2

 

เรานัดพบกับคุณณภัค หรือ คุณแป้น ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขารังสิต โดยเราค่อนข้างประหลาดใจเมื่อเดินทางไปถึงแล้วพบคุณณภัคกำลังนั่งอยู่ริมสระว่ายน้ำสุนัขของทางโรงพยาบาล ในขณะที่ในสระมีเจแปน สุนัขโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ตัวใหญ่กำลังว่ายน้ำอย่างสนุกสนานร่วมกับผองเพื่อนสุนัขอีกหลายชีวิต

คุณณภัค เล่าให้เราฟังว่าทุกๆ สัปดาห์เธอจะพาเจแปนและสุนัขโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ตัวอื่นที่เลี้ยงอยู่ในขณะนี้มาว่ายน้ำเล่นเพื่อให้พวกเขาได้ออกกำลังกาย โดยในขณะนี้นอกจากเจแปนแล้ว เธอยังเลี้ยงสุนัขโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ อีก 2 ตัว คือ เจไดและเจด้า นอกจากนี้ยังมีสุนัขพันธุ์มอลทีส อายุ 18 ปี ชื่อว่า ทอฟฟี่ และเผือก สุนัขพันธุ์ผสมอีกหนึ่งตัว

คุณณภัครู้จักกับเจแปนครั้งแรกเมื่อตอนที่เธอทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่สุนัขที่เลี้ยงเสียชีวิตลง เธอจึงได้คุยกับฟาร์มสุนัขที่รู้จักกันที่เมืองไทยเพื่อเริ่มต้นเลี้ยงสุนัขตัวใหม่ และเมื่อทางฟาร์มส่งรูปเจแปนมาให้ดู คุณณภัคบอกกับเราว่าเป็นเหมือนเป็นรักแรกพบ

“พอเราเห็นรูปเจแปนครั้งแรกก็ตกหลุมรักเลย พอกลับมาเมืองไทยก็ตัดสินใจรีบรับมาเลี้ยงทันที ที่ชื่อเจแปนก็เพราะว่าชอบตั้งแต่ตอนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง”

เจแปนเป็นสุนัขร่าเริงเหมือนโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั่วๆ ไป มีพลังเหลือมาก ชอบวิ่งเล่น ทำให้คุณณภัคคิดว่าเจแปนไม่น่ามีปัญหาสุขภาพอะไร จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งตอนที่เจแปนอายุได้ 2 ปี ก็เหมือนกับโลกหยุดหมุนเมื่อเธอพาเจแปนไปประกวดในงานเกษตรแฟร์ และเมื่อตรวจร่างกายและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สัตวแพทย์ได้แจ้งว่าเจแปนมีแนวโน้มของภาวะหัวใจผิดปกติอย่างรุนแรง

“พอสัตวแพทย์เห็นผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของเจแปนก็ตกใจ หมอบอกเราว่ากราฟหัวใจของเจแปนผิดปกตินะ ค่ากราฟสูงมาก แนะนำให้รีบเอ็กซเรย์ตรวจเลย” คุณณภัคเล่าเรื่องราวตอนนั้นให้เราฟัง “ผลการทำเอ็กซเรย์วันรุ่งขึ้นพบว่าหัวใจโตมาก พอทำอัลตราซาวน์หัวใจก็พบว่าหัวใจของเจแปนรั่ว 3 ห้อง จาก 4 ห้อง หมอบอกว่าให้ทำใจเพราะคงจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ ต้องกินยาช่วยประคองอยู่ตลอดชีวิต เพราะสภาพหัวใจแย่มากเหมือนกับหัวใจสุนัขอายุ 8 ปีเลย”

 

IMG_9685-2

 

คุณณภัคบอกว่าตอนแรกในใจเธอแทบไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นไปได้ เพราะเจแปนดูมีสุขภาพดีแข็งแรงทุกอย่าง ยังสามารถกินและวิ่งเล่นได้ตามปกติ แต่ด้วยผลการตรวจหัวใจในวันนั้นเธอเลยพยายามอ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่มเติมและพาเจแปนไปตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้เธอได้พบกับอาจารย์ ศ.สพ.ญ.ดร.ชลลดา บูรณกาล อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการตรวจครั้งนี้ทำให้เกิดทางเลือกที่แตกต่างออกไป

“พออาจารย์ชลลดาฟังเสียงหัวใจเจแปน ท่านบอกเลยว่าเป็นโรคหัวใจ PDA และมีทางผ่าตัดให้หายได้ เราฟังตอนแรกก็ดีใจมาก” เจ้าของเจแปนยิ้มกว้าง “แต่อาจารย์ก็บอกต่อว่าการผ่าตัดหัวใจแบบนี้ในสุนัขยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ถ้าเกิดว่าอยากรักษาจะถือเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างและต้องใช้แพทย์ในคนมาช่วยในการผ่าตัด อาจารย์ถามเราว่าสนใจไหม ซึ่งแน่นอนว่าเราตอบอย่างไม่คิดเลยว่าตกลง”

โรคหัวใจ PDA หรือชื่อเต็มคือ Patent Ductus Arteriosus เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของหัวใจ โดยระหว่างหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) และหลอดเลือดพัลโมนารี อาเทอรี (Pulmonary Artery) จะมีหลอดเลือดที่เชื่อมถึงกันอยู่ ซึ่งจะไม่มีในสุนัขปกติทั่วไป หลอดเลือดที่เชื่อมหลอดเลือดใหญ่ทั้ง 2 นี้จะทำให้มีการผสมระหว่างเลือดแดงและเลือดที่ไปปอด เปรียบได้กับเลือดดีผสมเลือดเสีย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้หัวใจล้มเหลว หัวใจโต ลิ้นหัวใจรั่ว และอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา

โดยการผ่าตัดแก้ไขหัวใจของเจแปนในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี คือ การเปิดผ่าหน้าอก ซึ่งเป็นวิธีที่เสี่ยงและเจ็บมากเพราะต้องเปิดผ่ากระดูกซี่โครง และอีกวิธีคือการสอดอุปกรณ์สายสวนเข้าทางหลอดเลือดไปยังตำแหน่งของหลอดเลือดที่เชื่อมกันแล้วใช้อุปกรณ์สายสวนนั้นอุดรูหลอดเลือดนั้นไว้ ซึ่งวิธีนี้จะลดความเสี่ยงและลดบาดแผลในสุนัขได้ แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงมากเช่นกัน ซึ่งคุณณภัคได้เลือกวิธีที่สอง

 

IMG_7055-2

 

หลังจากนั้นก็ได้ถึงวันผ่าตัด โดยการผ่าตัดครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์และทีมสัตวแพทย์ โดยมี ผศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาเป็นศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้

“ตอนแรกทีมแพทย์ประเมินไว้ว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดแค่ครึ่งชั่วโมงก็น่าจะเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าผ่านไป 2 ชั่วโมง ยังไม่มีใครออกมาเลย” คุณณภัคหัวเราะยาว “พูดตอนนี้อาจจะฟังดูตลก แต่ตอนนั้นเราใจคอไม่ดีเลย ทั้งลุ้นทั้งเครียดมาก กลัวว่าเจแปนจะเป็นอะไรไป ผ่านไป 3 ชั่วโมงเราก็ได้ยินเสียงคุณหมอตะโกนกันเสียงดังในห้อง เราก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก แต่ซักพักก็มีเสียงปรบมือ แล้วทีมคุณหมอก็ออกมาบอกว่าผ่าตัดสำเร็จเรียบร้อยแล้ว”

ผศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม เล่าให้คุณณภัคฟังว่าเป็นการผ่าตัดที่ยากมาก ส่วนหนึ่งเพราะท่านไม่ชินกับกายวิภาคหัวใจสุนัขที่ต่างจากในมนุษย์ และอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปครั้งแรกเล็กเกินไปจนอุดรูไม่ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายด้วยการร่วมมือของทีมผ่าตัดทุกคนก็ทำให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปี หลังการผ่าตัด เจแปนอายุได้ 3 ปีและมีสุขภาพที่ดีขึ้นมาก สามารถวิ่งเล่นว่ายน้ำได้ตามปกติแล้ว ผลการตรวจหัวใจครั้งล่าสุดพบว่าอัตราการั่วของหัวใจอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ ขนาดหัวใจแม้ใหญ่กว่าปกติอยู่บ้างแต่ไม่เป็นอันตราย และมีหัวใจห้องหนึ่งกลับมาเป็นปกติแล้ว

เมื่อเราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณณภัคสามารถทุ่มเททั้งเวลาและแรงกายแรงใจเพื่อสุนัขตัวหนึ่งได้มากมายขนาดนี้ เธอก็ตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่าเพราะเจแปนคือความสุขของเธอ

“สำหรับเรา เจแปนเป็นเหมือนกับเพื่อน เป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว ทุกช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันคือความสุขของเรา แม้ต้องพาเขาไปหาหมอบ่อยๆ ดูแลคอยช่วยเหลือเขา ก็ไม่เคยรู้สึกโกรธหรือเหนื่อยเลย เพราะมันคือการร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ทำให้ทุกครั้งที่เห็นหน้าเจแปนทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกดีใจที่ว่าเรายังได้อยู่ด้วยกันนะ”

“หรือในอีกแง่หนึ่งคือขอแค่เจแปนมีชีวิตอยู่…เราก็มีความสุขแล้ว”

แม้จะเป็นคำพูดง่ายๆ แต่ถ้าดูจากทุกอย่างที่เธอทุ่มเททำเพื่อเจแปนจนถึงทุกวันนี้แล้ว

เราเชื่อว่านั่นไม่ใช่คำพูดเกินจริงเลย

 

 

https://www.facebook.com/japanthegoldie

เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพโดยโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขารังสิต