Published on ISSUE 9
ปัจจุบันตอนนี้มันมีปัญหาคือเรามีใจให้มัน แต่ไม่มีความรับผิดชอบที่จะให้มัน

Tomorrow for Stray Dogs : เจาะลึกปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศไทยกับครูหยุย – วัลลภ ตังคณานุรักษ์

เรื่องและภาพ : howl the team

เราสามารถพบเห็นสุนัขจรจัดได้ทั่วไปในประเทศไทย

จากผลสำรวจล่าสุดของทางกรมปศุสัตว์บอกกับเราว่าในประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีสุนัขจรจัดรวมแล้วกว่า 800,000 ตัว และถ้าพิจารณาจากแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี คาดการณ์กันว่าจำนวนสุนัขจรจัดน่าจะถึงหลัก 1 ล้านตัวได้ภายในปีหน้า

แน่นอนว่าเราคงเคยฟังวาทกรรมเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดมาจนเคยชินแล้ว ทุกรัฐบาลต่างบอกว่าสุนัขจรจัดคือปัญหาที่ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อสังคม ซึ่งควรมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แต่ทำไมสุนัขจรจัดถึงเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

เพื่อไขปริศนาและค้นหาความจริงนี้ เราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงในการได้เข้าสัมภาษณ์ ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หนึ่งในผู้แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งท่านจะมาพูดคุยชี้แจงถึงปัญหาและความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังชีวิตของสุนัขจรจัดที่เราเห็นจนชินตาอยู่ทุกวันนี้

ทุกท่านคงอยากรู้ว่าทางภาครัฐลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง อุปสรรคที่เกิดขึ้นคืออะไร

และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด…

เราควรทำอะไรเพื่อวันพรุ่งนี้ของสุนัขจรจัดดี

 

img_0581-2

 

 ในมุมมองของครุหยุยคิดว่าสุนัขจรจัดเป็นปัญหาหรือไม่

ปัญหาของสุนัขจรจัดของประเทศไทยน่าจะอยู่ที่จำนวนกับการจัดการ ด้วยจำนวนกว่า 800,000 ตัวตอนนี้ ทำให้การดูแลจัดการลำบาก พอจัดการได้ไม่ทั่วถึงเราก็มีปัญหาเรื่องการแพร่ของโรคพิษสุนัขบ้า เพราะสุนัขมีเชื้อแค่ตัวเดียวพอกัดตัวอื่นก็แพร่กระจายโรคทวีคูณ มีปัญหาสุนัขทำร้ายคนด้วย เราคงเห็นว่ามีข่าวคนโดนกัดตลอดเวลา อีกเรื่องคือกีดขวางทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการส่งเสียงรบกวน ถ่ายอุจจาระ กลายปัญหาสาธารณสุข ดังนั้นถ้าไม่มีการจัดการปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่

 

อุปสรรคในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในปัจจุบัน

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ คน โดยเฉพาะคนที่เลี้ยง ด้วยเหตุที่บ้านของเรานี่สามารถเลี้ยงสุนัขได้ไม่จำกัด โดยหลักของนานาชาติแล้ว ก่อนที่จะเลี้ยงสุนัขต้องจดทะเบียนฝังชิพก่อน แล้วต้องเรียนรู้ว่าเลี้ยงยังไงด้วย เพราะสุนัขแต่ละพันธุ์ก็มีการเลี้ยงคนละแบบ บ้านเราเน้นเลี้ยงด้วยความรัก แต่ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงของการเลี้ยงสุนัขแต่ละพันธุ์ บางคนชอบสุนัขบางแก้ว แต่ปรากฏว่าดุเกินกว่าที่เลี้ยงได้ บางคนชอบสุนัขขนยาว แต่บ้านเราเมืองร้อน เป็นต้น ความไม่รู้ผสมกับการไม่ขึ้นทะเบียนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุนัขจรจัดตามมา

 

img_2122

 

ความขัดแย้งทางอำนาจของภาครัฐและท้องถิ่น

ทั้งทางภาครัฐและท้องถิ่น (อบต. อบจ.) ตอนนี้กำลังมีปัญหาขัดแย้งกันในการดูแลสุนัขจรจัด ทั้งในเชิงกฎสุนัขยและปฏิบัติ ในเชิงกฎสุนัขยคือตอนนี้เราได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแล้ว แต่เรื่องของสุนัขจรจัดเรายังไม่ได้โอน ทำให้ตอนนี้ทางท้องถิ่นจะฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าได้ก็ต่อเมื่อกรมปศุสัตว์ประกาศว่าให้จังหวัดนั้นเป็นเขตแพร่โรคพิษสุนัขบ้า ท้องถิ่นจึงมีสิทธิ์ที่จะฉีดได้ อยู่ดีๆ จะฉีดไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของท้องถิ่น อันนี้เป็นความลักลั่นของกฏหมาย

ลำดับต่อมา คือ การลงมือฉีดวัคซีนและทำหมันก็มีปัญหา เพราะสุนัขจรจัดมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีคนเคาะกะละมังเลี้ยงกับกลุ่มที่ออกหากินเอง ซึ่งสุนัขกลุ่มหลังนี้หาตัวจับยาก ทำให้การทำหมันและฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึง รวมไปถึงปัญหาปลีกย่อยอย่างการทำหมันและฉีดวัคซีนต้องหาคนท้องถิ่นช่วยมาจับสุนัขจรจัด สถานที่ที่จะเอาไปให้สุนัขทำหมันก็ไม่มี ศักยภาพและความเร็วในการทำหมันเราก็ยังน้อย ทำหมันได้แค่ทีละหลักสิบตัว ในขณะที่สุนัขมีเป็นแสนและแพร่พันธุ์เร็ว แบบนี้ก็ไม่ทันกัน มิหนำซ้ำยังมีความเชื่ออีก คนที่คอยเคาะกะละมังเลี้ยงบางคนก็ไม่ยอมให้ทำหมันสุนัข ให้เพียงแต่ฉีดวัคซีน พระบางรูปที่อุดรเลี้ยงสุนัขไว้กว่า 80 ตัว บอกว่าไม่ยอมให้ทำหมันเพราะบาป ถึงยุคสมัยนี้แล้วความเชื่อแบบนี้ก็ยังมีอยู่นะ

ที่ตลกยิ่งกว่านั้นคือเครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่เพียงพอ อย่างการเป่าลูกดอกหรือยิงปืนยาสลบ บางจังหวัดมีปืนยิงยาสลบกระบอกเดียวใช้ร่วมกัน 3 จังหวัด นี่คือปัญหาของประเทศไทย ทำให้สุดท้ายเราก็เลยกลับมาใช้สวิงจับเหมือนเดิม ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยสุดทั้งคนจับและสุนัข

 

img_6665-3

 

เก็บสุนัขจรเข้าศูนย์ ทำได้จริงหรือไม่ ใครเป็นคนมีอำนาจ

สำหรับแนวคิดนี้ทางท้องถิ่นกำลังทำอยู่ แต่ก็มีปัญหาคือเป็นการทำโดยไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ อย่างเช่น กทม. ซื้อที่ที่จังหวัดอุทัยธานี สร้างเป็นศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดมีสุนัขกว่า 8,000 ตัว แต่ปัญหาคือทำแบบนี้สามารถเบิกเงิน สตง. ได้ไหม เพราะ สตง. บอกว่าเรื่องของสุนัขไม่ใช่เรื่องของส่วนท้องถิ่น แต่เป็นหน้าที่ส่วนของกรมปศุสัตว์ อย่างที่เรารู้กันว่าเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ถูกฝึกมาในการดูแลสัตว์เศรษฐกิจ พอมาดูแลเรื่องสุนัขจรจัดแล้วมักไปไม่ถูกเลย ตอนนี้ก็เลยมีความลักลั่นว่าถ้าท้องถิ่นเอาไปดูแลนี่มีอำนาจจริงหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าไม่มี เป็นเรื่องตลกที่ต้องยอมรับว่านี่แหละคือประเทศเรา

แต่ถ้าถามแนวคิดว่าควรเอาเข้าไหม ก็มีแนวคิดเหมือนกันว่าควรเอาเข้า ผมก็เลยประนีประนอมกับเหล่าคนเลี้ยงสุนัขจรจัด ส่วนท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ที่ยังไม่มีความพร้อมว่า สุนัขเร่ร่อน 5 ประเภทที่ต้องเอาเข้าก่อน หนึ่งคือป่วย สองคือดุร้าย สามคือท้อง สี่คือลูกสุนัข ห้าคือเป็นโรคเรื้อนหรือโรคผิวหนังอย่างร้ายแรง ซึ่งตอนนี้ทุกกลุ่มเห็นด้วยหมดแล้ว ดังนั้นสุนัข 5 กลุ่มนี้จะถูกเก็บเข้าสถานเลี้ยงสัตว์ของรัฐและเอกชนก่อนเลย เป็นภารกิจแรกที่ต้องทำ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้ก็น่าจะลดจำนวนสุนัขจรจัดได้ประมาณ 1 ใน 3

 

img_0578-3

 

สุนัขจำนวนมากขนาดนี้ ควรพาไปไว้ที่ไหนถึงจะเหมาะสม

ทางท้องถิ่นที่ทำอยู่หลักๆ ตอนนี้คือทาง กทม. ซึ่งศูนย์ที่อุทัยธานีก็รับสุนัขเต็มจำนวน 8,000 ตัวแล้ว ทางภาครัฐอย่างกรมปศุสัตว์ยังไม่มีแนวทางจัดการอย่างจริงจัง ดังนั้นส่วนใหญ่ตอนนี้การดูแลสุนัขจรจัดส่วนมากจึงอยู่ในมือของเอกชนที่เปิดสถานสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางแห่งก็ไม่พร้อม พื้นที่คับแคบ ขาดทุนทรัพย์ แต่เนื่องจากตอนนี้เรามี พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ใน พรบ.นี้ บอกว่าให้จัดตั้งกรรมการชุดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ และผลักดันให้ทางเอกชนที่ทำกิจกรรมตรงนี้อยู่ขึ้นทะเบียนเสีย พอขึ้นทะเบียนแล้วในอนาคตทางภาครัฐก็จะได้สนับสนุนได้อย่างถูกต้องเต็มกำลังต่อไป

อีกแนวทางหนึ่งคือการแก้ไขระบบใหญ่ทั่วประเทศ โดยการให้คณะกรรมการกระจายอำนาจ กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในกระทรวงมหาดไทย กระจายอำนาจให้เป็นภารกิจของท้องถิ่นในการดูแลสุนัขจรจัด พอมีอำนาจส่วนท้องถิ่นก็ได้รับงบประมาณ เขาก็มีเงินไปจัดการสุนัขจรจัดอย่างที่ต้องการได้แล้ว แล้วเราก็ต้องแก้กฎหมายอีกข้อหนึ่งคือให้ขึ้นทะเบียนสุนัข โดยให้ท้องถิ่นรับลงทะเบียน ทีนี้ก็หมดปัญหาเพราะว่าเราแก้ปัญหาครบทั้งวงจรแล้ว สุนัขใครไม่ขึ้นทะเบียนเราก็จัดการได้ กับให้ท้องถิ่นรับสุนัขจรจัดทั้งหมดในท้องถิ่นมาดูแล พอเป็นแบบนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

 

img_8822-3

 

แนวคิดเรื่องเปลี่ยนสุนัขจรจัดเป็นสุนัขของชุมชน

ปัญหาของแนวคิดนี้คืออะไรคือสุนัขชุมชน อะไรคือสุนัขเร่ร่อน ตรงนี้เราต้องนิยามให้ชัดเจน ถ้าตอบว่าสุนัขในชุมชนคือสุนัขที่คนในชุมชนทุกคนตกลงว่าเลี้ยงร่วมกัน อย่างนี้โอเคเลย บอกเลยว่าหมู่บ้านนี้มีสุนัขอยู่ 3 ตัว ทุกคนโอเคว่านี่คือสุนัขของเรานะ ทุกคนต้องช่วยกันดูแล มีการขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย มีกฎกติการ่วมกันว่าจะพาไปทำหมัน ฉีดวัคซีนและตรวจโรค ถ้าไปกัดใครชุมชนก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบ แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่สุนัขชุมชน แต่เป็นสุนัขจรจัด เพราะไม่มีชุมชนไหนทำแบบนี้เลย เรามีหน้าที่แล้ว เราก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย เอาแต่หน้าที่อย่างเดียวไม่ได้ เราให้อาหาร เลี้ยงมันอย่างเดียว แต่ถ้ามันกัดใครไม่เกี่ยวกับฉันมันก็ไม่ได้ มันต้องมีความรับผิดชอบด้วย นี่คือดุลยภาพที่มันต้องมี ถ้าไม่มีตรงนี้เมื่อไหร่ โลกเราไปต่อไม่ได้ ปัจจุบันตอนนี้มันมีปัญหาคือเรามีใจให้มัน แต่ไม่มีความรับผิดชอบที่จะให้มัน

 

มีการถกเถียงกันมากว่าเราควรให้อาหารสุนัขจรจัดหรือไม่ ครูหยุยคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ความจริงมันไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดทั้งหมดหรอก ลองคิดตรรกะง่ายๆ ว่าถ้าคุณไม่ให้อาหารสุนัขจรจัด พอเขาหิวแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ไปคุ้ยขยะ ไปแย่งอาหารชาวบ้าน ร้ายหน่อยก็กัดชาวบ้าน กลายเป็นปัญหาอีก

แต่ถ้าพูดถึงพวกเคาะกะละมังให้อาหารสุนัขตามข้างถนนที่เลี้ยงกันทีเป็นฝูง อันนี้จะเป็นปัญหาที่พูดถึงกันเพราะคนให้อาหารไม่รับผิดชอบ บางทีให้แล้วเลอะเทอะ ส่งกลิ่นเหม็น สุนัขเห่าเสียงดังบ้าง มันเลยกลายเป็นปัญหามากกว่า ผมเคยเจรจากับคนเคาะกะละมังเลี้ยงสุนัขเหล่านี้เหมือนกันว่าคุณช่วยมาขึ้นทะเบียนได้ไหม มีสุนัขอยู่กี่ตัว ปรากฏว่าไม่ยอม เพราะถ้าสุนัขพวกนี้ไปกัดคนอื่นเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบเพราะเป็นเจ้าของ แต่พอเราบอกว่าจะไปจับหมดนะ ปรากฏว่าเขาก็ไม่ให้จับอีก ก็ทะเลาะกันเป็นงูกินหางอยู่อย่างนี้

ผมว่าในโลกใบนี้บางคำถามอาจจะไม่ต้องการคำตอบสำเร็จรูปแบบ 1 หรือ 2 หรอก ไม่มีอะไรที่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง มาหาทางออกร่วมกันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

img_0725-3

 

พรบ. ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ มีส่วนช่วยสุนัขจรจัดได้อย่างไร

ถ้าจับจุดมาที่เรื่องสุนัขจรจัด มันก็ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มีข้อแม้ว่ากฏหมายต้องถูกบังคับใช้เต็มรูปแบบ อย่างแรกคือกรรมการต้องตั้งให้ครบ ซึ่งตอนนี้ก็ตั้งครบแล้ว สองคือกรรมการต้องออกระเบียบกฏเกณฑ์ เช่น ระเบียบการสถานสงเคราะห์สัตว์เอกชน มันจะทำให้สถานสงเคราะห์เหล่านี้ดูแลสัตว์ได้ดีขึ้น มีงบช่วยเหลือจากภาครัฐมากขึ้น สามคือกรมปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นเจ้าที่ตามกฏหมาย กรมปศุสัตว์ละเว้นจากหน้าที่ไม่ได้ ถ้าเขาบอกว่ากรมปศุสัตว์ต้องเอาไปดูแลก็ต้องดูแล กฎหมายมันเดินได้ถ้ามีการเอาไปปฏิบัติ ความจริงประเทศไทยมีกฎหมายเยอะเกือบที่สุดในโลกนะ แต่การปฏิบัติอาจจะแย่ที่สุดในโลกก็ได้ นี่คือเรื่องจริงที่เราต้องยอมรับ

 

การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืนควรเริ่มจากอะไร

ควรเริ่มจากการออกฎหมายให้คนไปลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง ถ้าเป็นแบบนั้นสามารถแก้ไขอย่างยั่งยืนได้แน่ เพราะทั่วโลกไปในแนวทางนี้หมด หลังจากลงทะเบียนแล้วยังมีระเบียบอีกมากให้ปฏิบัติตาม เช่น พอลงทะเบียนแล้วเจ้าของสุนัขก็ต้องรับผิดชอบสุนัขตัวเอง ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของมัน ตอนนี้มันกลายเป็นว่าใครนึกอยากจะขายสุนัขก็ขาย สุนัขที่เอามาขายก็ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงควรตั้งต้นออกกฎหมายว่าให้ทุกคนมาจดทะเบียน ฝังชิพ แสดงความเป็นตัวตน แล้วปฏิบัติตามระเบียบต่อไป อย่างนี้ยั่งยืนแน่นอน เพราะเราคุมและตรวจสอบได้ว่าสุนัขใครเป็นของใคร

ส่วนการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดที่ยังเร่ร่อนอยู่ตอนนี้ แนวทางที่ถูกต้องที่สุดคือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปดูแล พอท้องถิ่นดูแลก็แบ่งเบาภาระจากส่วนกลาง กรมปศุสัตว์ก็จะมีความรับผิดชอบน้อยลงเหลือแค่คอยดูแลในภาพรวม ซึ่งผมว่าน่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ตอนนี้