Web Exclusive
การรู้จักวงจรชีวิตของพยาธิทำให้เราสามารถเข้าใจการป้องกันพยาธิทางเดินอาหารมากขึ้น ดังนั้น การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ

ถ่ายพยาธิบ่อยแค่ไหน ถึงจะพอ?

เรื่องและภาพ howl the team

พยาธิในทางเดินอาหาร เป็นปรสิตที่ไม่ได้ก่อโรคอย่างชัดเจน แต่มีผลกับสุขภาพในแบบค่อยเป็นค่อยไป ในสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันปกติร่างกายอาจควบคุมเจ้าปรสิตนี้ไม่ให้ก่อโรค และทำอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของเราได้ แต่เมื่ออยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันลดลง หรือภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ เช่น ป่วย ตั้งท้อง หรือลูกสัตว์ ก็อาจทำให้พยาธิในทางเดินอาหารเพิ่มจำนวนและทำอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงของเราได้ ดังนั้น การถ่ายพยาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเราให้ปลอดภัย และแข็งแรง โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการป้อนยาถ่ายพยาธิต้องเป็นอย่างไรนั้น ก่อนอื่นเรามารู้จักวงจรชีวิตของพยาธิทางเดินอาหารกันก่อน

พยาธิไส้เดือน เริ่มต้นจากตัวแก่ที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้เล็กออกไข่ ทำให้ไข่ปนออกมาพร้อมกับอุจจาระ เมื่อสัตว์เลี้ยงกินเข้าไป หรืออาจมีสัตว์อื่น เช่น หนู  ไส้เดือน กินไข่พยาธิเข้าไป และถูกสัตว์เลี้ยงกินเข้าไปอีกต่อนึง ทำให้ไข่พยาธิกลับเข้าสู่ร่างกายได้ หลังจากนั้นตัวอ่อนที่ออกมาจากไข่ จะไชผ่านผนังลำไส้เล็กไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด เป็นต้น เมื่อสัตว์ป่วยไอและกลืน ตัวอ่อนก็จะกลับเข้ามาในระบบทางเดินอาหาร จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้เล็กต่อไป โดยวงจรชีวิตตั้งแต่ติดเชื้อเข้าไปจนถึงออกไข่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

พยาธิปากขอ เป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กออกไข่และปนออกมากับอุจจาระ ไข่พยาธิจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนและปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อม  นอกจากสัตว์จะสามารถติดได้จากการกินพยาธิที่ปนเปื้อนแล้ว ตัวอ่อนยังสามารถไชผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ลูกสัตว์ที่กินนมแม่ สามารถติดพยาธิผ่านทางน้ำนมได้ เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิจะไปอยู่ที่ต่อมน้ำนมของแม่สุนัขและแม่แมว ซึ่งวงจรชีวิตของพยาธิปากขอตั้งแต่ติดเชื้อเข้าไปจนถึงออกไข่จะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์

พยาธิแส้ม้า อาศัยอยู่ภายในลำไส้ใหญ่เมื่อพยาธิแส้ม้าตัวเต็มวัยออกไข่ ไข่จะปนเปื้อนกับอุจจาระออกมาสู่สิ่งแวดล้อม  โดยตัวอ่อนจะพัฒนาอยู่ภายในไข่ และอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน เมื่อสัตว์ติดพยาธิเข้าไป ไม่ว่าจะโดยการเลีย กิน หรือจากการปนเปื้อนต่างๆ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ และเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 2-10 วัน เพื่อพัฒนา หลังจากนั้นจึงไปที่ลำไส้ใหญ่และไส้ตัน (cecum) เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป วงจรชีวิตตั้งแต่ติดเชื้อเข้าไปจนถึงออกไข่ใช้เวลาประมาณ 74-90 วัน หรือประมาณ 10-12 สัปดาห์

พยาธิตัวตืด ไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งหมัดจะกินไข่พยาธิเข้าไป โดยหมัดเป็นตัวกลางที่จำเป็นสำหรับพยาธิตัวตืดในการที่จะเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะถัดไป เมื่อสุนัขและแมวกินหมัดเข้าไปด้วยความบังเอิญ เช่น การเลียแต่งขน หรือการกัดเกา เมื่อหมัดผ่านการย่อยแล้ว พยาธิภายในตัวหมัดก็จะเจริญเติบโตภายในลำไส้เล็กของสุนัขหรือแมว  และออกไข่ต่อไป ซึ่งใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโตตั้งแต่ติดเชื้อเข้าไป จนเกิดเป็นปล้องตัวเต็มวัยอยู่ที่ประมาณ 2-3 สัปดาห์

การรู้จักวงจรชีวิตของพยาธิทำให้เราสามารถเข้าใจการป้องกันพยาธิทางเดินอาหารมากขึ้น ดังนั้น การถ่ายพยาธิเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ โดยในลูกสัตว์ควรถ่ายพยาธิที่อายุ 2, 4, 6, 8, 12 และ 16 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นการตัดวงจรชีวิตของพยาธิที่พบได้บ่อยๆ ในลูกสัตว์ แต่เมื่อโตขึ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายสมบูรณ์ อาจทำการถ่ายพยาธิทุก ๆ 3-6 เดือน ตามลักษณะการเลี้ยงและความเสี่ยง แต่แนะนำที่ทุก 3 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรทำการกำจัดมูลสัตว์ ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม บริเวณที่สัตว์ขับถ่าย รวมทั้งป้องกันสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่อาจเป็นตัวกลางในการพัฒนาเป็นระยะต่างๆ ของพยาธิ เช่น ป้องกันหมัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อพยาธิทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น