Published on ISSUE 20
ลองจ้องมองไปที่นัยน์ตาดวงน้อยๆ ของพวกเราดูสิ! แล้วเจ้าจะตกอยู่ในมนต์สะกด~

Look into cat’s blue eyes : ดวงตาคู่นี้…เปลี่ยนสีได้เอง

เรื่อง : howl the team ภาพ : ชาพีช

ลองจ้องมองไปที่นัยน์ตาดวงน้อยๆ ของลูกแมวดูสิ!

แล้วคุณจะสังเกตเห็นว่า ลูกแมวน้อยทุกตัวจะมีดวงตาสีฟ้าเป็นประกายเมื่อขณะมีอายุได้ 10 วัน ที่เปลือกตาเปิดขึ้นเต็มขนาด ไปจนกระทั่งแมวอายุได้ 6-7 สัปดาห์ สีของดวงตาก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป…กลายเป็นสีตาของจริง ที่จะคงอยู่ตลอดไป แล้วปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ยังไงล่ะ?

ปริศนาของคำถามนี้ มันอยู่ที่โครงสร้างที่เรียกว่า “ม่านตา” การที่มนุษย์เรามีสีตาแตกต่างกัน เป็นเพราะปริมาณเม็ดสี หรือ “เมลานิน” ที่สะสมอยู่บริเวณม่านตาของเราแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับลูกแมว ที่เมื่อแรกเกิดจนถึง 3 เดือนแรก ร่างกายจะยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จมูกจะค่อยๆ ได้กลิ่น หูจะเริ่มได้ยิน และตาจะเริ่มลืมขึ้นมองดูโลก แต่ทว่าในวัยเด็กเช่นนี้ จะยังไม่มีเม็ดสีเมลานินมาสะสมที่ม่านตาของลูกแมว ทำให้แสงที่ส่องผ่านเข้าไป ถูกสะท้อนกลับออกมาโดยตรง หรือพูดให้ง่ายก็คือ สีฟ้าที่เรามองเห็น เกิดจากการที่ม่านตาของลูกแมว ยังไม่มีสีนั่นเอง

ในช่วงที่ลูกแมวมีดวงตาสีฟ้า ประสาทการมองเห็นก็จะยังไม่ชัดเจน ภาพที่ลูกแมวมองเห็นจะเป็นลักษณะ light blur หรือเห็นเป็นแค่แสงจ้าๆ มัวๆ ดังนั้นการเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตของลูกแมวในช่วงระยะนี้ จึงต้องอาศัยประสาทสัมผัสและสัญชาตญาณอื่นๆ จนกว่าการมองเห็นจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 5-7 สัปดาห์

ต่อเมื่อวันเวลาผ่านไป ร่างกายของเจ้าแมวน้อยก็จะเริ่มพัฒนาตามกลไกทางพันธุกรรม เมื่อรหัสพันธุกรรมที่อยู่ภายในเซลล์สั่งให้ทำอะไร…ร่างกายก็จะแสดงออกอย่างนั้น นั่นรวมไปถึงสีขน สีตา และลักษณะอื่นๆ โดยเซลล์ที่มีชื่อว่า “เมลาโนไซต์” บริเวณม่านตา จะเริ่มผลิตเม็ดสีเมลานินมากยิ่งขึ้น ทำให้ดวงตาเริ่มฉายแววของสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีฟ้า จนดวงตาทั้งสองข้างเปลี่ยนสีไปอย่างสิ้นเชิง และสีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็จะคงอยู่ไปตลอดชีวิตของแมว

แต่ทุกกฏล้วนต้องมีข้อยกเว้น เพราะแมวบางสายพันธุ์ก็มียีนที่ทำให้ดวงตามีสีฟ้าต่อไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เล็กจนโต นั่นเพราะยีนดังกล่าวไปกดการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ม่านตานั่นเอง ดังนั้นเจ้าของลูกแมวสายพันธุ์วิเชียรมาศ, Birman, Ragdoll และเปอร์เซีย Himalayan อาจต้องเสียดายหน่อยนะ ที่พลาดโอกาสได้เห็นว่า ดวงตาคู่นี้…เปลี่ยนสีได้