Published on SPECIAL ISSUE
หัวใจสำคัญของการบำบัดรักษาด้วยสัตว์ คือ คุณต้องก้าวออกจากโลกของตัวเอง ยอมเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้อื่นหรือสิ่งรอบข้าง นั่นจะทำให้สามารถเกิดความผูกพันกับสัตว์ได้ง่ายขึ้น

Animal Therapy : แนวคิดเรื่องสัตว์บำบัด

เรื่อง : howl intern ภาพ : ชาพีช

คนกับสัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานแสนนาน จนทำให้สัตว์เป็นหลายๆ สถานะให้กับเรา ไม่ว่าจะต้องกลายเป็นอาหารในทุกมื้อของวัน ยอมเป็นพาหนะให้เราใช้ทำงานหรือไปไหนมาไหนมาตั้งแต่อดีต และที่สำคัญสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงาที่ดีของเราเสมอมา นอกจากนี้สัตว์บางชนิดก็มีส่วนช่วยในการรักษาโรคให้กับเราด้วย หรือที่เรียกกันว่า “ สัตว์บำบัด ” นั่นเอง

การบำบัดด้วยสัตว์ คือแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่งที่ให้คนกับสัตว์ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการบำบัดด้วยสัตว์ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยที่มีการทำงานของสมองที่ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสมอง

สำหรับแนวคิดของการใช้สัตว์บำบัดนั้นมาจากที่เราพบว่า สัตว์สามารถช่วยเรื่องการรับรู้สัมผัสต่างๆ ได้ มีการเสริมสร้างสมาธิ  เพิ่มความไว้วางใจผู้อื่น เป็นมิตรอย่างอบอุ่น และยังช่วยเรื่องการตอบสนองทางอารมณ์ได้ดีขึ้นด้วย

โดยสัตว์ที่เลือกใช้ในการบำบัดรักษาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เราคุ้นเคยกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว ปลา กระต่าย รวมไปถึงสัตว์ใหญ่ที่เป็นมิตรกับเราอย่าง ม้า ช้าง โลมา กระบือ ทำให้มีการบำบัดของสัตว์แต่ละชนิดมีรูปแบบแตกต่างกันออกไป

หัวใจสำคัญของการบำบัดรักษาด้วยสัตว์ คือ คุณต้องก้าวออกจากโลกของตัวเอง ยอมเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้อื่นหรือสิ่งรอบข้าง นั่นจะทำให้สามารถเกิดความผูกพันกับสัตว์ได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าสัตว์เองจะมีความสามารถในการผูกมิตรอย่างง่ายดายอยู่แล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ การที่ได้ก้าวออกจากโลกใบเดิมก็ทำให้เราหันมาสนใจสิ่งอื่นมากขึ้นนอกจากตัวเราเอง

นี่แหละคือส่วนผสมสำคัญอันแสนลงตัวของสัตว์บำบัดล่ะ