Published on SPECIAL ISSUE
ทีมวิจัยจาก The University of British Columbia ได้พิสูจน์ว่า การใช้เวลากับสุนัขที่ขี้เล่นทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี หรือมีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้นและไม่ได้ดีขึ้นแค่ชั่วคราว

สุนัขบำบัด (Dog Therapy)

เรื่อง : howl intern ภาพ : ชาพีช

สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงสุดแสนยอดนิยม เพราะไม่เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูเท่านั้น แต่ด้วยความฉลาดแสนรู้และนิสัยของเจ้าสุนัขที่เป็นมิตรน่าคบหาด้วย ทำให้ไม่แปลกถ้าจะถูกเลือกมาฝึกให้เป็นสัตว์ที่ใช้บำบัดผู้ป่วยเป็นลำดับต้นๆ

สายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้บำบัดในต่างประเทศมากที่สุด คือ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ซึ่งเป็นสุนัขที่มีนิสัยน่ารักเข้ากับผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย บวกกับความฉลาดแสนซนที่สามารถฝึกทำตามคำสั่งได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ตระกูลรีทรีฟเวอร์ยังเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม sporting group ทำให้รักในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงเหมาะที่จะให้บำบัดผู้ป่วยที่ต้องการออกกำลังกายเบาๆ อย่างบริหารกล้ามเนื้อแขน โดยการโยนบอลให้ไปเก็บแล้วกลับมาส่งคืน

สำหรับสุนัขพันธุ์อื่นที่นิยมนำมาเป็นสุนัขบำบัดกันทั่วไป เช่น บีเกิล ชิสุ หรือพุดเดิล ก็เพราะมีพื้นฐานนิสัยที่เป็นมิตรกับคน ขี้เล่น ไม่ดุร้าย ชอบเอาใจเจ้าของ และฉลาดเรียนรู้ง่าย

สุนัขสามารถช่วยบำบัดทั้งทางร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี สำหรับการบำบัดด้านร่างกายนั้นสามารถช่วยให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ทำกิจกรรมที่มีการบริการกล้ามเนื้อแขนและขา โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการที่จะต้องลุกขึ้นมาทำกายภาพบำบัดในแต่ละวัน เช่น การโยนลูกบอลออกไปให้สุนัขคาบกลับมา การจูงสุนัขเดินเล่นรอบสนามหญ้า การลูบคลำสุนัข หรือแม้กระทั่งการแปรงขนสุนัขก็เป็นการออกกำลังแขนได้ดีเช่นกัน

ส่วนการบำบัดด้านจิตใจ การให้สุนัขเข้าไปเล่นด้วย แม้กระทั่งนั่งดูสุนัขวิ่งเล่นไปมาหรือดูการแสดงความสามารถของสุนัขก็สามารถทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าหรือมีอารมณ์รุนแรงได้รู้สึกถึงความเพลิดเพลิน สบายใจ และช่วยให้มีอารมณ์ที่อ่อนโยนได้ดีขึ้น

ทีมวิจัยจาก The University of British Columbia ได้พิสูจน์ว่า การใช้เวลากับสุนัขที่ขี้เล่นทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี หรือมีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้นและไม่ได้ดีขึ้นแค่ชั่วคราว แต่เกิดความสุขขึ้นอย่างยาวนานเลยทีเดียว โดยทีมวิจัยได้สำรวจเด็กมากกว่า 200 คน ให้สัมผัสกับสุนัข 12 ตัว ซึ่งหลังจากนั้น 10 ชั่วโมงต่อมาได้ลองนำผลไปเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันกับสุนัข ผลปรากฏว่าเด็กที่อยู่ร่วมกับสุนัขรู้สึกมีความสุขมากขึ้น และสามารถลดระดับความเครียดลงได้เป็นผลสำเร็จ