Web Exclusive
มีคนคาดการณ์ว่าถ้าหากพะยูนเสียชีวิตจากการถูกใบพัดเรือหรือเครื่องมือการประมงเพียงแค่ปีละ 12 ตัว ก็อาจจะทำให้พะยูนสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังได้ในเวลาแค่ 16 ปี

แด่มาเรียม : รู้จักและอนุรักษ์พะยูนไทย

เรื่อง : howl the team ภาพ : เลขา

1. รู้จักพะยูน : หมูน้อยน่ารักแห่งท้องทะเล

ถ้าใครเคยเห็นพะยูน คงยากที่จะไม่ตกหลุมรัก

ด้วยท่วงท่าที่อุ้ยอ้าย หน้าตาน่ารัก และดูไม่มีอันตราย ทำให้พะยูนเป็นขวัญใจใครต่อใครหลายคน พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ เช่นเดียวกับวาฬและโลมา สองขาหน้ามีลักษณะเป็นครีบคล้าใบพาย ส่วนขาหลังลดรูปหายไปจนมองไม่เห็นจากด้านนอก

พะยูนในไทยมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Dugong มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัวทะเล หมูน้ำ ฝั่งจันทบุรีจะเรียกว่าหมูดุด ส่วนในภาษามลายูจะเรียกว่า ดุหยง ซึ่งแปลว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเล พะยูนที่พบในไทยมีลักษณะเด่นคือหางจะมีลักษณะเป็นหางสองแฉกคล้ายหางโลมา เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของพะยูนเคยอยู่บนบกมาก่อนเมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อน และอาจมีบรรพบุรุษหรือมีวิวัฒนาการสายเดียวกันกับช้าง เพราะมีลักษณะเด่นคล้ายช้างคือมีเต้านมที่ขาหน้าและมีเขี้ยวยาวคล้ายงาซ่อนอยู่ในช่องปาก

ในธรรมชาติพะยูนจะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลอยู่มากซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน พะยูนมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 70 ปี ตัวเมียตั้งท้องแต่ละครั้งประมาณ 13 เดือน และแม่พะยูนจะคอยดูแลลูกพะยูนไปอีกปีครึ่งหลังคลอดจนกว่าลูกพะยูนจะโตพอดูแลตัวเองได้

ปัจจุบันพะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์สงวน 19 ชนิดของไทย และทาง ICUN จัดอันดับพะยูนในแถบประเทศไทยว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพะยูนยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตรัง รวมไปถึงพะยูนยังโด่งดังจนได้เป็นชื่อตัวแทนการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 โดยใช้ชื่อว่า “พะยูนเกมส์” อีกด้วย

.

.

2. พวกเราพี่น้องพะยูน : พะยูน 5 สายพันธุ์ทั่วโลก

รู้หรือไม่ว่าบนโลกนี้มีพะยูนอยู่หลายชนิด

แม้มองผิวเผินจะคิดว่าพะยูนไหนๆ ก็หน้าตาเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วพะยูนที่เคยมีอยู่บนโลกแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีลักษณะสายพันธุ์ที่แตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิต

1. Dugong : พะยูนที่พบในประเทศไทยเป็นพะยูนชนิดนี้ โดย Dugong จะอยู่แต่ในน้ำเค็มเท่านั้น มีร่างกายที่ผอมเพรียวมากกว่าพะยูนสายพันธุ์อื่น มีจุดเด่นที่สุดคือหางที่เป็นหางสองแฉกคล้ายโลมา ซึ่งสามารถใช้แยกกับพะยูนสายพันธุ์อื่นได้ชัดเจน Dugong พบมากในแถบชายฝั่งทวีปออสเตรเลีย มหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ รวมไปถึงทะเลอันดามัน

2. West Indian Manatee : พะยูนสายพันธุ์นี้มีผิวที่เป็นสีเทา แต่บางทีก็อาจพบสีน้ำตาลได้เช่นกัน จุดเด่นคือที่ผิวโดยเฉพาะบริเวณหลังจะมีขนอ่อนๆ ขึ้น ซึ่งบางทีจะมีพวกสาหร่ายไปเกาะ ทำให้พะยูนสายพันธุ์นี้ที่มีอายุมากจะเห็นว่ามีสาหร่ายเกาะที่หลังเสมอ หางจะเป็นรูปใบพัดกลมๆ ต่างจากสายพันธุ์ Dugong ชัดเจน

3. West African Manatee : เป็นพะยูนที่ค่อนข้างหายาก โดยรวมแล้วลักษณะมีความใกล้เคียงกับ West Indian Manatee แต่ผิวจะมีสีเทาเข้มกว่าและมีขนาดตัวเล็กกว่า พบมากในแถบชายฝั่งและแหล่งน้ำจืด ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหรือทะเลสาบของทวีปแอฟริกา

4. Amazonian Manatee : พะยูนพันธุ์นี้มีขนาดเล็กและมีผิวสีเข้มที่สุดในบรรดาพี่น้องพะยูน Amazonian Manatee มีผิวสีเทาเข้มเกือบดำ จุดเด่นคือพบแค่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ทะเลสาบขนาดใหญ่ หรือแม่น้ำ ในแถบป่าแอมะซอนเท่านั้น

5. Steller’s Sea Cow : พะยูนสายพันธุ์นี้เป็นพะยูนที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มนุษย์เคยได้ค้นพบมาและได้สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว จากหลักฐานที่มีเชื่อกันว่า Steller’s Sea Cow มีขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่กว่า 8 เมตรและหนักกว่า 3 ตัน เรียกได้ว่าขนาดพอๆ กับวาฬเพชฌฆาตเลยทีเดียว เคยพบอยู่ในบริเวณทะเลอาร์ติกและช่องแคบเบริง ผู้คนพบคนแรกคือ Georg Wilhelm Steller เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่เดินเรือสำรวจพื้นที่บริเวณนั้น หลังจากได้พบพะยูนขนาดยักษ์ที่ตั้งชื่อตามตัวเขาแล้ว ข่าวก็แพร่กระจายออกไป ทำให้มีคนไปล่าพะยูนและสัตว์ทะเลบริเวณนั้นทันทีเพื่อเอาหนัง ไขมัน และเนื้อ จนในที่สุด พะยูนยักษ์ที่น่าทึ่งสายพันธุ์นี้ก็สูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วหลังจากถูกมนุษย์ค้นพบเพียง 27 ปี

.

.

3. หญ้าทะเล : อาหารพะยูนที่กำลังจะหมดไป

เราคงเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าพะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก

แต่เคยสงสัยไหมว่าหญ้าทะเลคืออะไร หลายคนอาจแปลกใจถ้าเราบอกว่าหญ้าทะเลไม่ใช่สาหร่าย หากเป็นพืชดอกขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายหญ้าที่อยู่บนบกนี่แหละ แต่หญ้าทะเลจะมีวงจรชีวิตตั้งแต่เกิด ออกดอก แพร่เมล็ดใต้น้ำโดยสมบูรณ์เลย หญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมสำหรับพะยูนและเต่าทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกุ้ง ปู หรือหอย อีกด้วย

หญ้าทะเลมีความสำคัญมากในการรักษาสมดุลทางระบบนิเวศ นอกจากเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดแล้ว หญ้าทะเลยังเป็นแนวกันชนลดความเร็วคลื่นก่อนกระทบฝั่ง ทำให้ฝั่งไม่ถูกกัดเซาะ แถมรากของหญ้าทะเลยังช่วยยึดหน้าดินป้องกันการพังทลาย

ในประเทศไทยพบหญ้าทะเลอยู่ประมาณ 12 ชนิด แต่ถ้านับทั่วโลกจะมีทั้งหมด 58 ชนิด แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่หญ้าทะเลกำลังถูกทำลายและลดลงเรื่อยๆ จากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มลภาวะ และการพัฒนาการเกษตร ซึ่งหญ้าทะเลที่หายไปมากนี้เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนพะยูนลดลงเพราะขาดอาหารหลัก แต่ก็ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้างที่ในตอนนี้มีการพยายามปลูกหญ้าทะเลทดแทนมากขึ้นในทะเลต่างๆ

ซึ่งเราหวังว่าอีกไม่นานหญ้าทะเลจะกลับมาเขียวขจีอีกครั้งในท้องทะเลไทย

.

.

4. พะยูนกำลังถูกคุกคาม : เมื่อพะยูนถูกล่าเพราะความเชื่อและการประมง

คำกล่าวว่าพะยูนในไทยกำลังสูญพันธุ์ฟังดูน่าเศร้า

แต่จะน่าเศร้ากว่าหลายเท่าถ้าเราพูดต่อว่าการสูญพันธุ์นั้นเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์

ในแต่ละปีจะมีพะยูนมาเกยตื้นเสียชีวิตประมาณปีละ 12 ตัว จากการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 89 เกิดจากการติดเครื่องมือทางการประมง เช่น แห หรืออวนโดยไม่ได้ตั้งใจ และอีก 10% มาจากการป่วยตามธรรมชาติ และอื่นๆ อีก1%

 ปัญหาพะยูนเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือการประมงหรือถูกใบพัดเรือยังคงเป็นปัญหาที่แก้ยาก ที่จะต้องใช้การร่วมมือทั้งจากชาวประมงและอำนาจภาครัฐ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือปัญหาพะยูนเกยตื้น ยังไม่ได้นับรวมคือการตั้งใจล่าพะยูนเพื่อเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาทำเป็นเครื่องรางของขลัง

พะยูนถูกคนสร้างความเชื่อให้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจ ไม่ว่าจะเนื้อ น้ำตา น้ำมัน หรือแม้แต่เขี้ยว ก็ถูกเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ชาวจีนเชื่อว่าเนื้อพะยูนเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี น้ำมันและน้ำตาพะยูนเป็นยาเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม และเขี้ยวพะยูนหรือที่ถูกเรียกขานกันว่าเขี้ยวช้างน้ำก็มีอำนาจปัดเป่าภยันตรายต่างๆ จนมีการซื้อขายในตลาดมืดในราคานับแสนบาท

ด้วยความที่พะยูนเป็นสัตว์ที่มีระยะเวลาตั้งท้องยาวนาน ทำให้พวกเขาเพิ่มจำนวนประชากรได้ช้า การถูกล่าหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ ของมนุษย์ ร่วมกันกับแหล่งอาหารอย่างหญ้าทะเลกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้พะยูนสูญพันธุ์ไปได้ในอีกเพียงแค่ 10-20 ปีต่อจากนี้

แต่ก็ยังมีข่าวดีที่ชาวประมงในพื้นที่และทีมงานอนุรักษ์ทั้งจากทางภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์พะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศไทยที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 250 ตัวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่เป็นฐานที่มั่นที่พบพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย จนมีแนวโน้มว่าพะยูนกำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างช้าๆ

เป็นเรื่องตลกร้ายที่พะยูนที่คนถือว่าเป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจ มีเขี้ยวที่ปัดเป่าอันตรายได้ แต่กลับไม่สามารถปกป้องชีวิตและเผ่าพันธุ์ตัวเองจากการถูกล่าอย่างหนักจนแทบจะสูญพันธุ์ได้ ดังนั้นคงถึงเวลาที่เราจะต้องยอมรับความจริงและช่วยเหลือเหล่าพะยูนนี้ให้ได้ ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นเพียงเครื่องรางของขลังในประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าแทน

.

.

5. มาเรียมและยามีล : บทเรียนสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน

กลางเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 ได้มีลูกพะยูนตัวหนึ่งเกยตื้นที่อ่าวทึง จังหวัดกระบี่

เจ้าหน้าที่ได้เร่งรุดไปตรวจสอบและพบว่าลูกพะยูนตัวดังกล่าวมีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงได้ลองค่อยๆ เคลื่อนย้ายลูกพะยูนตัวนั้นกลับสู่ทะเล แต่ลูกพะยูนกลับว่ายอยู่ใกล้ชายฝั่งในจุดเดิม ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่จึงคิดว่าจะต้องหาที่อยู่ใหม่ให้กับลูกพะยูนตัวนี้ โดยจะต้องเป็นสถานที่ที่มีฝูงพะยูน มีหญ้าทะเล และมีชุมชนที่เข้าใจและพร้อมดูแล

ลูกพะยูนเพศเมียตัวนี้ถูกตั้งชื่อให้ว่า “มาเรียม” แปลว่า หญิงสาวผู้สง่างามแห่งท้องทะเล และถูกย้ายพื้นที่ไปดูแลที่ เกาะลิบง จังหวัดตรัง อันเป็นที่สถานที่ที่มีความพร้อมมากที่สุด และเป็นกรณีศึกษาแรกของประเทศไทยในการเลี้ยงพะยูนให้เติบโตในสภาวะธรรมชาติอีกด้วย เพราะถ้านำมาเรียมมาเลี้ยงในบ่อปิดจนเติบโต เขาจะไม่มีสัญชาตญาณในการอาหารและป้องกันตัวตามธรรมชาติ ทำให้ต้องอยู่ในบ่อปิดนั้นตลอดไป ด้วยเหตุนี้การประสานงานระหว่างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์ เพื่อเลี้ยงดูมาเรียมให้เติบโตให้ได้จึงเริ่มต้นขึ้น

มาเรียมที่ยังเด็กอยู่กินอาหารหลักเป็นนม โดยมีหญ้าทะเลเป็นอาหารเสริม มาเรียมค่อนข้างคุ้นชินกับคนมาก เวลาที่เจ้าหน้าที่คอยดูแลจะพายเรือคายัคสีส้มไปหา ซึ่งมาเรียมเห็นจะว่ายมาคลอเคลียกับตัวเรือเสมอ เรือคายัคเลยถูกเรียกว่าแม่ส้ม และภาพที่มาเรียมกอดเจ้าหน้าที่ตอนป้อนนมก็เป็นภาพที่น่ารักเสียจนเป็นกระแสไปทั่วอินเทอร์เน็ตในชั่วข้ามคืน

หลังจากนั้นไม่นาน ต้นเดือนกรกฎาคม ได้มีลูกพะยูนเพศชายอีกตัวเกยตื้นที่ชายหาดบ่อม่วง จังหวัดกระบี่ โดยมีสภาพอิดโรยและมีบาดแผลหลายจุดทั่วตัว ในภายหลังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ว่า “ยามีล” แปลว่า ชายรูปงามแห่งท้องทะเล และได้ส่งมาดูแลรับตัวมาดูแลในบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต

สองลูกพะยูนกลายเป็นขวัญใจและความหวังในการอนุรักษ์พะยูนไทย แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ประมาณวันที่ 11 สิงหาคม มาเรียมได้มีอาการซึม อ่อนเพลีย และเครียด จากการถูกพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคามตอนว่ายออกทะเล หลังจากนั้นอาการของมาเรียมได้ค่อยๆ ทรุดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จากไปในวันที่ 17 สิงหาคม หลังผ่าพิสูจน์ซากพบว่าในตัวของมาเรียมมีเศษพลาสติกอุดตันในลำไส้ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้มาเรียมอ่อนแอลงจนเสียชีวิต

ทางด้านยามีล ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้มีอาการท้องอืดอย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจพบว่ามีก้อนหญ้าทะเลอุดตันอยู่ในทางเดินอาหารจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการสอดกล้องผ่าตัดเพื่อนำหญ้าทะเลออกมาก็ตาม แต่ยามีลยังคงอาการทรุดหนักอย่างต่อเนื่องและได้จากเราไปในวันที่ 22 สิงหาคม

มาเรียมและยามีลถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ให้ทุกคนเข้าใจในวงกว้าง และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการเริ่มต้นเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราให้ไม่รบกวนธรรมชาติมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการลดการใช้พลาสติก

อย่างน้อยที่สุด นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้…เพื่อมาเรียมและยามีลที่จากไป

.

.

6. พะยูนไทยในอนาคต : แด่ฝูงพะยูน 250 ตัวสุดท้ายของเมืองไทย

ในประเทศไทยตอนนี้คาดว่ามีพะยูนอยู่แค่ 250 ตัวเท่านั้น

ส่วนใหญ่ประชากรพะยูนจะอยู่ที่บริเวณเกาะลิบงและเกาะมุกเท่านั้น ส่วนที่บริเวณแถบชายฝั่งระยองอาจจะยังพอมีพะยูนเหลืออยู่ประมาณ 10 ตัว แต่ในสมัยก่อนพะยูนสามารถพบได้ทั่วไปทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย แม้กระทั่งอ่าวคุ้งกระเบนก็เคยมีพะยูน แต่ก็ไม่พบอีกเลยตั้งแต่เจอตัวสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2515

ประชากรพะยูนเคยลดต่ำลงจนเหลือเพียงแค่ 125 ตัว ในปี พ.ศ.2556 แต่ด้วยความพยายามของทั้งเจ้าหน้าที่ ชุมชนท้องถิ่น และนักอนุรักษ์ ทำให้ประชากรพะยูนค่อยๆ กลับมาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ.2562 คาดว่ามีประชากรพะยูนอยุ่ที่ 250 ตัว การปรากฏตัวของมาเรียมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การอนุรักษ์พะยูนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการมีมติให้รื้อถอน “หลาด” หรือโป๊ะน้ำตื้น ออกจากเขตเกาะลิบงทั้งหมด เพราะหลาดเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำอันตรายต่อทั้งพะยูนและเต่าทะเล

แต่ถึงกระนั้นพะยูนในประเทศไทยก็ยังถือว่าอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์อยู่ ด้วยจำนวนประชากรที่ไม่มากและการสืบพันธุ์ที่น้อยและใช้เวลานาน ทำให้มีคนคาดการณ์ว่าถ้าหากพะยูนเสียชีวิตจากการถูกใบพัดเรือหรือเครื่องมือการประมงเพียงแค่ปีละ 12 ตัว ก็อาจจะทำให้พะยูนสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังได้ในเวลาแค่ 16 ปี

แนวทางการอนุรักษ์พะยูนให้ได้ผลอาจจะต้องพึ่งพา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. อนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูนไว้ให้ได้มากที่สุด 2. ทำให้ชุมชนและชาวประมงเข้าใจถึงความสำคัญและลดการใช้เครื่องมือทางการประมงที่ทำอันตรายต่อพะยูน 3. สร้างจิตสำนึกต่อชุมชนในการช่วยเหลือและดูแล รวมไปถึงลบล้างความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการล่าพะยูนเพื่อเครื่องรางของขลัง

ไม่แน่ว่าบางที มาเรียมและยามีล ลูกพะยูนน้อยทั้งสองตัว อาจปรากฎตัวขึ้นเพื่อบอกกับเราก็ได้ว่าถึงเวลาที่เราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจังได้แล้ว

ก่อนที่พะยูนแห่งท้องทะเลไทยจะหายไปโดยที่ไม่มีทางหวนกลับมา