หลายคนอาจจะเคยสับสน ว่าละองและละมั่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันหรือไม่
คำตอบคือเป็นชนิดเดียวกัน โดยเป็นสัตว์ในกลุ่มกวาง ละองเป็นชื่อเรียกของตัวผู้ และละมั่งเป็นชื่อเรียกของตัวเมีย ละมั่งจะมีขนาดตัวเล็กกว่าละองและไม่มีเขา เมื่อยังเล็กบนใบหน้าของพวกมันจะมีขนสีดำเรียงเป็นแนวเหนือระดับลูกตา แลดูเหมือนคิ้ว บางคนจึงเรียกละอง-ละมั่งว่า “กวางมีคิ้ว”
เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าสมัยนั้น ทำให้ช่วงหนึ่งประเทศไทยเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของละอง-ละมั่ง โดยเฉพาะบริเวณป่าเปิดใกล้ลำธาร แต่โชคร้ายที่พื้นที่ลักษณะดังกล่าวก็เหมาะสำหรับการเพาะปลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นเหล่าสัตว์ต่างๆ ก็ย่อมมีโอกาสถูกไล่ล่าเพิ่มมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบว่าจำนวนประชากรมนุษย์นั้นสวนทางกับจำนวนประชากรละอง-ละมั่งโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้ IUCN จึงกำหนดสถานภาพปัจจุบันของละอง-ละมั่งให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) โดยในประเทศไทยถือว่าละอง-ละมั่ง สูญพันธุ์จากในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติแล้ว หลายคนอาจเคยเห็นพวกมันตามสวนสัตว์หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ บ้าง แต่สัตว์กลุ่มนั้นล้วนแต่เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์ทั้งสิ้น ปัจจุบันหลายพื้นที่หลายหน่วยงานในประเทศไทยเราก็ได้มีแผนการทดลอง การวิจัยผสมพันธุ์ เพื่อเพิ่มจำนวนละอง-ละมั่งคืนสู่ผืนป่าในธรรมชาติ
ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องน่ายินดีที่ “เจ้าอั่งเปา” ลูกละมั่งจากเทคนิคหลอดแก้วตัวแรกของโลกได้ถือกำเนิดขึ้นในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และในปีเดียวกันนั้นอั่งเปาก็ถูกปล่อยสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโครงการอนุรักษ์ละอง-ละมั่งอย่างต่อเนื่อง
เรื่องราวความสำเร็จในครั้งนั้น ทำให้ละอง-ละมั่ง กลายเป็น flag ship species หรือจุดนำความสนใจไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์ป่าในประเทศไทยเรื่อยมา “อั่งเปา” จึงนับว่าเป็นเหมือนของขวัญอันล้ำค่า ที่มาตอบแทนความพยายามในการอนุรักษ์ละอง-ละมั่งของเจ้าหน้าที่ทุกๆ ฝ่าย อีกทั้งยังมาช่วยสร้างความตระหนักเรื่องการดูแลรักษาป่าของผู้คนมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแล้ว ยังส่งผลต่อชีวิตของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ไปด้วยในคราวเดียวกัน