Web Exclusive
ชะตากรรมของพญาแร้งฝูงสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้งคือเสียชีวิตเพียงเพราะมีนายพรานเอายาเบื่อไปทาซากเก้งหวังจะใช้เป็นเหยื่อล่อเสือโคร่ง แต่ปรากฏว่าพญาแร้งฝูงนั้นไปกินซากเก้งนั้นเสียก่อนจนโดนยาเบื่อล้มตายทั้งฝูง

พญาแร้ง : ความตายและการเริ่มต้นใหม่

เรื่อง : howl the team ภาพ : ชาพีช

ตามความเชื่อของคนทั่วไป แร้งไม่ใช่สัตว์มงคลนัก

ด้วยความที่เป็นสัตว์กินซากศพทำให้แร้งถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับความตายและความน่ากลัว แต่ชะตากรรมของแร้งในเมืองไทย โดยเฉพาะ “พญาแร้ง” นับว่าเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าความเชื่อที่มีต่อพวกมันมาก

แร้งในประเทศไทยมีอยู่ 2 ประเภท คือ แร้งประจำถิ่นและแร้งอพยพ โดยพญาแร้งเป็นแร้งประจำถิ่น มักออกหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ แต่ก็อาจจะพบเป็นฝูงได้เมื่อมีการรุมกินซากศพ

แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่เกี่ยวกับความตาย แต่ตอนนี้แร้งทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตต่อการสูญพันธุ์เสียเอง โดยเฉพาะที่อินเดียที่จำนวนประชากรแร้งได้ลดลงอย่างฮวบฮาบจากการที่แร้งกินซากปศุสัตว์ โดยไม่รู้ว่าปศุสัตว์เหล่านั้นมีการกินยา Diclofenac จนทำให้เมื่อแร้งได้รับยาเกินขนาดผ่านการกินซากปศุสัตว์เข้าไปจนล้มตายเป็นจำนวนมาก กว่าทางการอินเดียจะทราบเรื่องและหยุดการใช้ยาชนิดนี้ก็แทบจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว

ส่วนในประเทศไทย ชะตากรรมของพญาแร้งฝูงสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้งคือเสียชีวิตเพียงเพราะมีนายพรานเอายาเบื่อไปทาซากเก้งหวังจะใช้เป็นเหยื่อล่อเสือโคร่ง แต่ปรากฏว่าพญาแร้งฝูงนั้นไปกินซากเก้งนั้นเสียก่อนจนโดนยาเบื่อล้มตายทั้งฝูง ส่วนพญาแร้งในพื้นที่อื่นๆ ที่มีน้อยมากอยู่แล้วก็ถูกล่าโดยนายพรานจนไม่พบเห็นอีก

จากนั้นพญาแร้งเมืองไทยก็ได้หายสาบสูญไปจากธรรมชาติกว่า 30 ปี

ปัจจุบัน ด้วยความพยายามเพิ่มจำนวนและคืนพญาแร้งกลับสู่ป่าธรรมชาติ ได้มีการร่วมมือกันทั้งจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสวนสัตว์นครราชสีมา ที่มีพญาแร้งในกรงเลี้ยงทั้งหมดรวม 7 ตัว เริ่มต้นโครงการเพิ่มจำนวนพญาแร้งด้วยการจับคู่กันในกรงเลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของพวกมัน

ทีมงานจึงได้สร้างกรงขนาดใหญ่กว้างยาวด้านละ 20 เมตร สูงกว่า 40 เมตร บริเวณซับฟ้าผ่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบพญาแร้งฝูงสุดท้ายในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วให้พญาแร้งลองใช้ชีวิตในกรงเลี้ยงเพื่อคุ้นเคยกับธรรมชาติโดยรอบและจับคู่กันต่อไป

การจับคู่แร้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยที่สุดตอนนี้มันก็ยังพอเป็นไปได้ ความหวังตอนนี้อยู่ที่มิ่งกับมั่น พญาแร้งสองตัวที่เริ่มต้นอาศัยอยู่ในกรงเลี้ยงกลางป่า โดยพญาแร้งทั้งสองตัวนี้ถ้าชอบพอและจับคู่กันได้ก็อาจจะเป็นความสำเร็จก้าวใหม่ในการเพิ่มจำนวนพวกเขาในธรรมชาติต่อไป

แร้งอาจเป็นสัตว์ที่มีภาพจำเกี่ยวกับซากศพและความตาย แต่ถ้าเป็นไปได้…ตอนนี้เราอยากพวกมันเกี่ยวข้องกับการเกิดและเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจริงๆ