Published on ISSUE 10
มีเรื่องเล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย จนวันหนึ่งมีผู้กราบบังคมทูลถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล พระองค์ก็ทรงมีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”

ปลานิล : ปลาเพื่อปวงชน

เรื่อง : howl the team ภาพประกอบ : ชาพีช

ใครจะเชื่อว่าจากปลานิล ปลาธรรมดาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันตามตลาดและบนโต๊ะอาหารในประเทศไทยนั้น มีต้นกำเนิดที่เกี่ยวพันกับจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

จุดเริ่มต้นของปลานิลในประเทศไทย หากย้อนไปจริงๆ น่าจะเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2507 เมื่อครั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ยังดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักมีนวิทยา นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่ามกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ ทรงมีความสนใจทางด้านปลาเป็นพิเศษ ทำให้พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวได้จัดโปรแกรมต้อนรับช่วงหนึ่งเป็นการพามกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ไปทอดพระเนตรปลาสายพันธุ์ต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ประมง คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

 

มีบันทึกไว้ว่า มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงพระสำราญมาก ทรงสำรวจดูพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ที่เก็บไว้ในขวด รวมไปถึงขวดเก็บปลาบู่มหิดล อันเป็นชื่อที่ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถวายชื่อโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ปรมาจารย์ด้านวงการมีนวิทยาในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมกุฎราชกุมาร ทรงสนใจทางด้านมีนวิทยาอยู่แล้ว ก็เกิดความประทับใจเป็นอันมาก ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราสืบมา

 

ด้วยทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ขอพระราชทาน “ปลานิล” จากทางมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลว่าประเทศไทยนั้นยังขาดแคลนแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับคนทุกระดับชั้นเพื่อรับประทานพัฒนาสมองและร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งเนื้อสัตว์ก็ล้วนแต่ราคาแพงเกินกว่าคนยากจนจะสามารถหาซื้อทานได้ในขณะนั้น ดังนั้นปลาจึงน่าจะเป็นแหล่งโปรตีนที่เหมาะสม ราคาถูก ซึ่งท่านทรงเล็งเห็นว่าปลานิลนั้นเป็นปลาที่มีเนื้อมาก โตไว รสชาติอร่อย และไม่รบกวนระบบนิเวศน์มากนัก จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด

 

ทางมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ ได้ตอบรับคำขอพระราชทาน และถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว มาให้ด้วยความยินดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้นำมาทดลองเพาะเลี้ยงไว้ในวังสวนจิตรลดา ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์  ซึ่งผลการทดลองเลี้ยงปรากฏว่าปลานิลสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี จนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 พระองค์ได้พระราชทานพันธุ์ปลาแก่กรมประมงเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนและปล่อยตามแหล่งน้ำต่างๆ ต่อไป

 

โดยชื่อปลานิลนั้น เป็นชื่อพระราชทาน ที่มีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลาชนิดนี้ ในปัจจุบันปลานิลกลายเป็นปลาเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยประเทศไทยสามารถผลิตปลานิลได้ปีละ 220,000 ตัน ส่งขายต่างประเทศสร้างรายได้มหาศาล และยังเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับประชาชนทั่วประเทศสมดังพระปณิธานอีกด้วย

 

มีเรื่องเล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย จนวันหนึ่งมีผู้กราบบังคมทูลถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล พระองค์ก็ทรงมีรับสั่งว่า

“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”