Published on ISSUE 10
แนวพระราชดำริของพระองค์คือเมื่อในป่าอุดมสมบูรณ์ มีอาหารสำหรับช้างเพียงพอ ช้างก็จะไม่ออกจากป่ามาทำลายไร่สวนของคนอีก จึงได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นเป็นการปลูกสัปปะรดราคาถูกเพื่อให้เป็นอาหารช้างโดยเฉพาะเพื่อให้ช้างป่ามีอาหารเพียงพอ

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เรื่อง howl the team ภาพ : พิริยะ กลิ่นฟุ้ง

เมื่อคนและช้างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

เมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้มีเสียงร้องทรมานของช้างป่า 2 ตัวดังขึ้นก่อนที่จะจบชีวิตลงอย่างน่าสงสารที่อำเภอกุยบุรี เนื่องมาจากช้างป่า 2 ตัวนี้ได้รับสารพิษจากการทำไร่สัปปะรดของชาวบ้าน หลังจากนั้นไม่นาน เสียงปืนอีกหนึ่งนัดได้ดังขึ้น พร้อมๆ กับช้างป่าอีกหนึ่งร่างได้เสียชีวิตลงที่อำเภอกุยบุรี เนื่องจากการที่ชาวบ้านได้ยิงช้างป่าที่ลงมากินสัปปะรดในไร่ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์น่าเศร้าใจที่มีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์ทำพื้นที่การเกษตรรุกล้ำป่า ทำให้ช้างป่ามีพื้นที่หากินน้อยลงจึงต้องมาหาอาหารในไร่เพาะปลูกสัปปะรดจนทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างเสียชีวิตทั้ง 3 ตัวในที่สุด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนกับช้างกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเช่นเดิม จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่19 มิถุนายน 2540 สรุปได้ว่า

“ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีโดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯจังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จังหวัดราชบุรี”

ซึ่งแนวพระราชดำริของพระองค์คือเมื่อในป่าอุดมสมบูรณ์ มีอาหารสำหรับช้างเพียงพอ ช้างก็จะไม่ออกจากป่ามาทำลายไร่สวนของคนอีก จึงได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นเป็นการปลูกสัปปะรดราคาถูกเพื่อให้เป็นอาหารช้างโดยเฉพาะเพื่อให้ช้างป่ามีอาหารเพียงพอ ร่วมกับการปลูกป่าด้วยการไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ และการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานเพื่อให้ประชาชนมีน้ำพอไว้ใช้ตลอดปี

ส่วนแผนการระยะยาวนั้นเป็นการให้ช้างอยู่ข้างในป่า ไม่ออกมาสร้างปัญหากับคนในแนวชายป่าอีก ด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นอาหารช้าง อาทิ มะขามเปรี้ยว มะเกลือ กระถิน ไปโปรยในป่าลึกเป็นแปลงเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วป่า เพื่อให้เติบโตเป็นแหล่งอาหารของช้างป่าต่อไป

ผลจากโครงการพระราชดำรินี้ ทำให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีการปลูกและอนุรักษ์ป่ากว่า 18000 ไร่ ในเส้นทางของช้างป่ามีการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารช้างเป็นระยะๆ ทำให้ช้างป่าสามารถอาศัยอยู่ในป่าโดยที่ไม่ออกมารบกวนชาวบ้านอีก รวมไปถึงชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านที่เคยมีปัญหาทะเลาะกับช้างนั้นก็ได้รับการพัฒนาอาชีพอย่างเหมาะสม ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน และการเพาะเลี้ยงแพะและพันธุ์ปลาทางเศรษฐกิจ

001

ภาพช้างป่าและกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

(รูปภาพจาก : เว็บไซต์ สำนักสนองงานพระราชดำริ)

002

ภาพฝูงช้างป่าในแหล่งที่อยู่ตตามธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

(รูปภาพจาก : เว็บไซต์ ชมลมชมไทย)

003

004

ภาพฝูงช้างป่าในแหล่งที่อยู่ตตามธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

(รูปภาพจาก : เว็บไซต์ WWF)