Web Exclusive
ต้องอดทนครับ มันไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ มันเป็นสิ่งที่เรารัก แต่เราก็ต้องอิ่มท้องด้วย อย่าไปทุ่มทุกอย่างให้กับมัน เราเล่นเพื่อเราสนุก ถ้ามีโอกาสได้เล่น โอกาสได้ทำเพลงก็ทำครับ แต่คุณก็ควรมีอาชีพที่เลี้ยงชีพคุณได้

Fungjai : ทางเลือกใหม่ของนักฟังเพลงไทย

เรื่องและภาพ : Bluebird fly

ถ้าเป็นไปได้… ไม่ว่าใครก็คงอยากเลือกทำในสิ่งที่เป็นตัวเองมากที่สุด ยิ่งในยุคสมัยที่ศิลปะและดนตรีถูกครอบงำโดยกรอบทางธุรกิจ ผู้เสพจึงย่อมต้องการทางเลือกมากขึ้น จึงเป็นที่มาของกลุ่มนักดนตรีอิสระหรือที่เราเคยได้ยินกันอย่างคุ้นหูว่า “วงดนตรีอินดี้” ที่ทั้งแต่งและอัดเพลงเองโดยไม่ขึ้นกับสังกัดค่ายดนตรีใดๆ ทำให้เกิดดนตรีแนวใหม่ที่ไม่ได้อิงกับกลไกการตลาดเพียงอย่างเดียว หากแต่มาจากแรงบันดาลใจอันร้อนแรงของตัวศิลปินเองอีกด้วย

วงดนตรีและเพลงอินดี้ในปัจจุบันมีหลากหลายแนว ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นแนวใดแนวหนึ่งเท่านั้น หลายครั้งอาจจะมีนักดนตรีไม่ครบวง หรือในบางครั้งอาจมีแค่ตัวคนเดียวกับกีต้าร์อีก 1 ตัว เสียด้วยซ้ำ และที่สำคัญคือพวกเขามีหลากหลายอาชีพ หลายคนมีงานประจำที่มั่นคงแต่ผันเวลาว่างมาแต่งเพลงเป็นงานอดิเรกอย่างจริงจัง บางคนก็รวมวงกับเพื่อนเก่าเพื่อแต่งเพลงเติมเต็มความฝันในสมัยก่อน และอีกหลากหลายเหตุผลมากมาย

ดังนั้นในครั้งนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “ฟังใจ (Fungjai)” มิวสิคสตรีมมิ่งโดยคนไทย เป็นพื้นที่ใหม่ที่เปิดกว้างทั้งสำหรับเพลงไทยอินดี้และไม่อินดี้ได้มาอยู่พื้นที่เดียวกัน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เหล่านักฟังเพลงไทยมีตัวเลือกในการฟังเพลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเพลงอินดี้ที่หาฟังได้ยากจากช่องทางอื่นๆ โดยเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณท็อป-ศรัณย์ ภิญญูรัตน์ หนึ่งในผู้สร้าง “ฟังใจ” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร รวมไปถึงแนวคิด และทัศนคติเกี่ยวกับเพลงอินดี้ในไทย

ในยุคที่ใครๆ ต่างคิดว่าวงการเพลงไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง…

 

ที่มาที่ไปจากปาก CEO ฟังใจและแรงบันดาลใจเริ่มแรก

ถ้าจะให้กล่าวโดยรวม ฟังใจเป็นคอมมิวนิตี้ (community) สำหรับคนชอบทำเพลงและชอบฟังเพลงไทย เราพยายามสร้างพื้นที่ให้คนมาปฏิสัมพันธ์กัน ระหว่างคนทำเพลงและคนฟังเพลง โดยเริ่มทำจริงๆ ช่วงพฤษภาคม 2014 ครับ แต่ปล่อยให้คนเริ่มเข้ามาใช้จริงๆ ตอนเดือนตุลาคม 2014 ซึ่งถ้านับมาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือนแล้วครับ

มันไม่ได้เป็นความคิดยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ต้น มันเหมือนเป็นงานอดิเรกมากกว่า เกิดจาก 3 เหตุผลด้วยกันหลักๆอันดับแรก คือ ผมไปทำงานที่อเมริกามา และผมค้นพบว่าปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ การจะเริ่มต้นสร้างโปรดักส์ที่เป็นของเราเองเนี่ย มันไม่ยากมาก ต้นทุนมันไม่ได้สูงมากเหมือนแต่ก่อน อันดับสอง คือ พื้นเพเดิมคือผมเป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ แล้วมันเกิดความเบื่อในอาชีพประมาณหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้สร้างอะไรที่เป็นของเราเอง เราสร้างให้คนอื่นตลอด ก็เลยอยากสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองขึ้นมา อันดับสาม คือ เราได้ไปใช้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งตอนใช้ชีวิตอยู่ที่โน่น ก็เกิดความรู้สึกชอบ รู้สึกว่ามันดีกว่าการฟังเพลงบนเว็บไซต์ youtube หรือวิดีโอสตรีมมิ่งอื่นๆ เพราะว่ามิวสิคสตรีมมิ่ง มันถูกออกแบบมาสำหรับการฟังเพลงจริงๆ มันมีข้อได้เปรียบกว่าในหลายประเด็น พอสามอย่างนี้มารวมกันก็เลยเกิดเป็นไอเดียอยากทำมิวสิคสตรีมมิ่งในไทยบ้าง เป็นของคนไทย เน้นที่เพลงไทยเป็นหลัก ซึ่งแรกๆ มันก็ยังแค่เป็นงานอดิเรก ผมก็ยังต้องกินข้าว (หัวเราะ) ผมก็ทำงานกราฟฟิก เป็นอาจารย์พิเศษ ผมก็สอนหนังสือไป ฟังใจก็ค่อยๆ โตของมันมาเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งผมต้องตัดสินใจ เพราะถ้าเราไม่ให้เวลามันเต็มที่ มันก็จะไม่เกิด ก็เลยตัดสินใจที่จะหยุดงานตรงนั้น แล้วโฟกัสกับฟังใจเต็มที่มากกว่า แต่แน่นอนครับ มันไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ถ้าฟังใจไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนฟัง ศิลปินก็ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นครับ

 

เราถึงปีทองของเพลงอินดี้กันแล้วหรือยัง

ผมไม่แน่ใจนิยามคำว่าปีทองเป็นอย่างไร แต่ถ้าในปี 2015 ที่ผ่านมา ผมมองว่าเป็นปีที่เพลงอินดี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมากประมาณหนึ่งก็แล้วกัน เพราะว่ามี Cat Radio ที่กลับมาจัดงาน Cat Expo อย่างเต็มตัวและมีคนไปเยอะมาก ประสบความสำเร็จมากๆ แล้วเราก็มีงานคอนเสิร์ตที่พวกเราจัดอย่าง “เห็ดสด” 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้งก็มีคนให้การตอบรับดีมาก ทำให้ผมรู้สึกว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำเพลงด้วยตัวเองโดยไม่หวังพึ่งค่าย หรือเป็นค่ายเล็กๆ ทำกันเองเยอะขึ้น และเราก็เห็นปรากฏการณ์อย่างวงดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในค่ายใหญ่ๆ แต่ว่าขึ้นติดอันดับ 1 ชาร์ต ต่างๆ อย่าง Polycat ที่เรียกได้ว่ามาแรงมากๆ ประสบความสำเร็จมากๆ ก็เป็นปีที่ผมรู้สึกว่าคนไทยเริ่มมีกระแสของการฟังอะไรที่เปิดกว้างมากขึ้น เราเริ่มเห็นว่าคนฟังตามสื่อหรือสิ่งที่คนอื่นยัดเยียดมาให้ฟังลดลง และเลือกฟังสิ่งที่เค้าค้นพบด้วยตัวเองมากขึ้น ตอบความเป็นตัวเองมากขึ้น

 

ศิลปินอินดี้และรายได้ของพวกเขา

ในระบบมีศิลปินประมาณ 700 วงครับ คือทุกวันนี้มีคนส่งเพลงมาให้เราตลอดเวลา ส่วนใหญ่ศิลปินก็จะมาทักในเพจว่าอยากมีเพลงอยู่บนฟังใจต้องทำยังไง เราก็จะส่งแบบฟอร์มออนไลน์ไปให้เขากรอก ซึ่งจะมีเรื่องของการอนุญาตเผยแพร่ อนุญาตใช้สิทธิตามกฎหมาย และเราก็มีการแบ่งรายได้กลับไปให้ตัวศิลปินที่นำเพลงมาลงที่นี่ ส่วนการคัดเลือกเราไม่มีการคัด คือส่งเพลงมา เราลงให้หมด มีแค่ 2 กรณีที่เราจะไม่ลงเพลงให้ หนึ่งคือไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ เช่น cover เพลง หรือนำเพลงของคนอื่นมาดัดแปลง สองคือเนื้อหาของเพลงเข้าข่ายผิดกฏหมาย ตัวอย่างเช่น หมิ่นประมาท พูดพาดพิงถึงใครต่อใคร แบบนี้เราก็ไม่ลงให้ เงื่อนไขก็มีเท่านี้แหละครับ และเร็วๆ นี้ เราจะเปิดระบบให้คนอัพโหลดเพลงได้เองเลย กดอัพโหลดปุ๊บเพลงจะขึ้นบนระบบเลย ไม่ต้องรอทีมงานครับ จะเป็นคอมมิวนิตี้ที่ใครทำดนตรีก็มาปล่อยของที่นี่ได้เลย

ระบบสตรีมมิ่ง รายได้จะมาจาก 2 ส่วน คือ 1 โฆษณา 2 สมาชิก ระบบเก็บเงิน ยกตัวอย่างเช่น Spotify จะมี 2 แบบ คือ แบบฟังฟรีแต่มีโฆษณา กับแบบที่จ่ายเงินแล้วโฆษณาก็จะหายไป มีฟังก์ชั่นบางอย่างเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม เงินจะเข้ามาที่กองกลาง แล้วค่อยแบ่งปันรายได้ไปให้ศิลปินตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา อย่างกรณีของฟังใจก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราไม่มีระบบเก็บเงินคือเป็นโฆษณาล้วนๆ สมมติเราหาเงินมาได้ 100 บาท 50บาท จะเข้าไปกองกลางที่จะแบ่งไปยังศิลปิน ซึ่งศิลปินจะไม่ได้เท่ากันหมด เพลงใครถูกฟังเยอะ จะถูกคิดเป็นสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาก็จะได้เงินจากกองกลางมากหน่อย

 

เสน่ห์ของบทเพลงอินดี้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “อินดี้” ในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ตีความต่างกันครับ คือในภาษาไทย คำว่า “อินดี้” คนมักตีความว่า เอาแต่ใจตัวเอง ทำอะไรแปลกๆ ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งมักจะมีความหมายเชิงลบพ่วงเข้ามาอยู่ แต่จริงๆ คำว่า “อินดี้” ในภาษาอังกฤษ มันย่อมาจากคำว่า “อินดีเพนเดนซ์” (Independence) แปลว่า เป็นอิสระ ถามว่าอิสระจากอะไร คงต้องตอบว่าเป็นอิสระจากการที่ต้องถูกบังคับในการที่ต้องทำให้ถูกใจตลาดหรือถูกใจคนฟัง หรืออิสระในทางที่ว่าเขาสามารถโชว์ความเป็นตัวตนได้เต็มที่ ซึ่งผมอยากให้เอาความหมายภาษาอังกฤษมาใช้มากกว่า อยากให้หมายถึงการปลดปล่อยความคิดในเชิงศิลปะ ความคิดในเชิงดนตรีออกมาได้โดยไม่ถูกข้อจำกัดทางด้านตลาดผูกมัด โดยในยุคที่ศิลปินสามารถทำเพลงด้วยตัวเองได้ เผยแพร่ผลงานของตัวเองได้ด้วยตัวเองหมด โดยผ่านฟังใจหรือ streaming อื่นๆ  มีช่องทางการติดต่อแฟนเพลงของตัวเองได้อย่างเช่น แฟนเพจเฟซบุ๊ก หรือ Youtube ศิลปินก็น่าจะสามารถแสดงความเป็นตัวตนได้มากขึ้น และผมว่าเสน่ห์ของมันก็คือเราเจอวงที่ทำเพลงแนวต่างกันเยอะมากเลย ไม่ใช่แค่มีอยู่ 2 – 3 แนว แต่เราได้เจอคนทำเพลง Hip-Hop หมอลำเวอร์ชั่นใหม่ๆ Post Rock หรือ Folk ซึ่งมันน่าสนใจ ผมชอบเปรียบเทียบดนตรีเป็นเหมือนอาหาร ถ้าเราฟังแนวเดิมๆซ้ำๆ เหมือนเรากินข้าวผัดกะเพราทุกวัน มันคงต้องเบื่อกันบ้าง

ผมคิดว่าเสน่ห์ของศิลปินอินดี้คือเรามีอาหารหลากหลายให้กินเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่ว่าต้องชอบทุกอย่าง แต่ว่ามันสนุกดีจากความหลากหลาย

 

สังคมประชาธิปไตยทางดนตรี

เราให้อำนาจอยู่ในมือผู้ฟัง ให้ผู้ฟังเป็นคนเลือกเพลงที่ตัวเองอยากฟัง ชาร์ทเพลงของฟังใจก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ฟังตามตัวเลขยอดคนฟังจริงๆ

 

คอนเสิร์ตเห็ดสด ครั้งแรกสุดแสนประทับใจ

คำว่า เห็ดสด เป็นคำเรียกงานคอนเสิร์ตการแสดงสดของฟังใจครับ โดยในเห็ดสดครั้งแรก ผมเห็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ได้เห็นวงที่เป็นฮีโร่ของผมตอนเด็กๆ อย่าง Death of salesman แสดงสดๆ ในงานที่เราจัดขึ้น และวันนั้นเป็นวันเกิดของผมด้วย มันเลยยิ่งเป็นความประทับใจในความทรงจำจริงๆ

 

การทำงานแบบฟังใจ

เรามีทีมงานแบบฟูลไทม์ 16 คน รูปแบบการทำงานก็แบ่งออกเป็น 3 ทีมครับ ทีมมาร์เก็ตติ้ง คอยดูแลการทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ ง่ายๆ ก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้จักฟังใจให้มากที่สุด ทีมคอนเทนต์ เน้นสร้างคอนเทนต์ ทั้งงานเขียนและงานวีดีโอ จะมาในรูปแบบ ฟังใจซีน หรือก็คือนิตยสารของฟังใจเอง และคลิปต่างๆ ที่นำมาลงในเพจ และสุดท้ายทีมโปรดักส์ เป็นทีมพัฒนาตัวมิวสิคสตรีมมิ่งที่โครงสร้างหลักของฟังใจให้แข็งแรง

หลังจากเริ่มต้นฟังใจผ่านมาปีกว่า มีคนบอกว่าฟังใจเป็นที่รู้จักมาก ประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าถามผมว่าประสบความสำเร็จไหม ผมตอบว่ายัง แต่ถ้าถามว่าพอใจไหม ผมพอใจมาก เพราะเป็นโปรเจ็กต์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง และเราก็รู้สึกดีมีความสุขกับมัน มีทีมงานขนาดนี้ มีเงินให้เรากินข้าว ส่วนว่าทำไมถึงคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายปลายทางของพวกเรา คือ ยกระดับวงการดนตรีของไทย เราอยากเห็นนักดนตรีอิสระ สามารถทำดนตรีเป็นอาชีพได้ สามารถเผยแพร่ผลงานให้คนฟังได้ ถ้าเราเห็นภาพนั้น เราถึงพูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ และอีกแง่ในแง่คนฟัง ถ้าใครนึกถึงเพลงไทย ให้นึกถึงฟังใจ อยากให้มาฟังเพลงไทยกันที่นี่

 

วงการเพลงไทย ณ ปัจจุบัน

ผมว่าที่เขาว่ากันว่าซบเซา เพราะมันซบเซาจากวงการที่เราเคยรู้จักกันมา ที่มีค่ายเพลงใหญ่ๆ ศิลปินมีรายได้จากซีดี แต่ผมกลับมองว่าคึกคักนะ ถ้าในแง่ของคนทำดนตรีอิสระ เราได้เห็นวงดนตรีอิสระ ทำเพลงออกมาขายได้ 3-4 พันแผ่นแล้วหมด โดยที่ไม่มีค่าย มีคนติดตามเป็นแสนๆ เค้าได้ทำในสิ่งที่เค้าอยากทำ และวงแบบนี้ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ บางวงได้ไปทัวร์ญี่ปุ่น แบบนี้ซบเซาตรงไหน แน่นอนมันดูแผ่วถ้ามองในโมเดลเดิมที่เคยมี แต่ก็มีโมเดลแบบใหม่ที่กำลังโผล่ขึ้นมาและกำลังไปได้ดีมากๆ อยู่

ส่วนเรื่องที่ใครๆ ก็มองว่าดนตรีเป็นของฟรีนั้น ผมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องลิขสิทธิ์ แต่ผมมองว่าคนไทยไม่เคารพกฏหมาย ถ้ามองภาพรวมๆ มีคนมากมายยังโหลดเพลงแบบผิดกฎหมาย ซื้อหนังผิดกฎหมาย แบบนี้ผมว่ามันอยู่ที่คนซื้อแล้วครับ ถ้าไม่มีอุปสงค์ ก็ไม่มีอุปาทาน ที่ต่างประเทศ คนไม่ซื้อไม่โหลดเพลงกันแล้วครับ ส่วนใหญ่จะหาฟังมิวสิคสตรีมมิ่ง สะดวกกว่า หาเพลงง่ายนิดเดียวครับ ยอมจ่ายไม่เท่าไหร่เพื่อความสะดวกในการฟังเพลง แถมศิลปินก็ยังได้รับผลประโยชน์ให้เค้าสามารถทำงานต่อไปได้อีกด้วย

 

ให้กำลังใจนักดนตรีอิสระ

ต้องอดทนครับ มันไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ มันเป็นสิ่งที่เรารัก แต่เราก็ต้องอิ่มท้องด้วย อย่าไปทุ่มทุกอย่างให้กับมัน เราเล่นเพื่อเราสนุก ถ้ามีโอกาสได้เล่น โอกาสได้ทำเพลงก็ทำครับ แต่คุณก็ควรมีอาชีพที่เลี้ยงชีพคุณได้ ถ้าเราอิ่มท้องเราก็ทำมันได้อย่างมีความสุข ถ้าเราทุ่มเทให้กับมันจนเราไม่มีจะกิน ผมว่ามันไม่น่าสนุกเท่าไหร่