คุณอิสริย รัตนะวีรวงศ์ กับ การเดินทางของ “เบอร์ลิน” แมวพันธุ์ British Shorthair อันดับ 2 ของโลก
หากเปรียบเป็นความรัก นี่คงเป็นรักแรกพบ
แน่นอนว่าเราไม่ได้พูดถึงหนุ่มหล่อหรือสาวสวยที่ไหน หากแต่นี่คือความรู้สึกของเราจริง ๆ เมื่อได้พบกับ “เบอร์ลิน” แมวพันธุ์ British Shorthair ผู้ได้รับตำแหน่ง CFA Best Cat in Championship 2015-2016 ของโซนอินเตอร์เนชั่นแนล และยังเป็นแมวพันธุ์ British Shorthair ที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 2 ของโลก ของทางสมาคม CFA อีกด้วย
ในแวดวงการประกวดเบอร์ลินถือว่าเป็นแมวที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เรียกได้ว่าผู้อยู่ในวงการประกวดแมวต้องรู้จัก และที่สำคัญคือเบอร์ลินมีเจ้าของเป็นคนไทย คือ คุณอิส-อิสริย รัตนะวีรวงศ์ ซึ่งเป็นคนเลี้ยงเบอร์ลินมาตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวและเป็นผู้คอยพยายามและผลักดันจนกระทั่งเบอร์ลินมีชื่อเสียงในระดับโลก
ในแง่มุมหนึ่งเราอยากพูดถึงเรื่องของเบอร์ลินกับเรื่องราวในโลกของการประกวดแมวว่ารายละเอียดของการแข่งขันในโลกที่เราไม่คุ้นเคยนี้เป็นอย่างไร ส่วนในอีกแง่มุมหนึ่งเราอยากพูดถึงสายสัมพันธ์และความพยายามอันไม่ธรรมดาที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเบอร์ลินและคุณอิสริย ที่ต่างฝ่ายต่างใช้เวลาและฝึกฝนร่วมกันจนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของวงการประกวดแมวระดับโลกได้สำเร็จ
แม้คำว่างานประกวดแมว อาจชวนให้หลายคนนึกถึงการประกวดที่ทุกคนเอาแต่มองแมวสวยๆ มีใบประวัติสายพันธุ์ยาวเหยียด แต่ความจริงแล้วงานประกวดแมวยังมีมิติที่หลากหลายมากไปกว่านั้น โดยเฉพาะที่คุณอิสบอกกับเราว่างานประกวดแมวคือการต่อสู้ของสองชีวิต
สองชีวิตของแมวและเจ้าของที่ต้องก้าวไปในจังหวะเดียวกัน
“เริ่มต้นจากว่าเราเลี้ยงแมวเป็นงานอดิเรก”
นี่คือคำพูดหนึ่งของคุณอิส-อิสริย รัตนะวีรวงศ์ เมื่อตอนที่เราถามว่าพบกับเบอร์ลินและเริ่มต้นเลี้ยงแมวพันธุ์ British Shorthair ได้อย่างไร จริงอยู่ที่ว่าขณะนี้คุณอิสมีฟาร์มแมวที่ชื่อว่า ศรี-สวัสดี อยู่ หากแต่คุณอิสยืนยันกับเราว่าที่ฟาร์มแห่งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อขายแมว กลับกันเขาสนใจว่าคนที่มาซื้อแมวเป็นใคร เป็นคนแบบไหน สามารถดูแลแมวได้ดีไหม ถ้ามาคุยกันแล้วถูกใจ หลายๆ ครั้งให้ฟรีเลยก็มี
นี่คือที่มาของคำว่าการเลี้ยงแมวเป็นงานอดิเรก และแนวทางการทำฟาร์มแมวที่ไม่เหมือนใคร
นอกจากความรักและเอาใจใส่ในการเลี้ยงแมวแล้ว คุณอิสยังเป็นคนชอบศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์และลักษณะของแมวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้คุณอิสจึงเริ่มสนใจแมวพันธุ์ British Shorthair เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นแมวสีเทาที่คุณอิสชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จนกระทั่งคุณอิสได้รู้จักกับกรรมการท่านหนึ่งของทางสมาคมประกวดแมวนานาชาติ (CFA) ที่มี British Shorthair ตรงตามลักษณะที่เขาต้องการพอดี หลังจากที่ได้พูดคุยติดต่อกันนานกว่า 3 ปี ในที่สุดแมว British Shorthair ของกรรมการท่านนี้ก็มีลูก โดยเมื่อได้เห็นรูป คุณอิสบอกว่าเขาตกหลุมรักทันที
“ตอนที่ท่านกรรมการส่งรูปมาให้ดูครั้งแรกเราก็ตกหลุมรักเลย รู้สึกได้เลยว่านี่คือแมวพันธุ์ British Shorthair ที่เราตามหามาตลอด เรียกได้ว่าพอตกลงเรื่องเอกสารกับรายละเอียดได้เสร็จ เราก็รีบตีตั๋วเครื่องบินไปรับที่เยอรมันทันที”
ใช่แล้ว…ลูกแมวตัวนั้นคือเบอร์ลินนั่นเอง
2.
หลังจากที่รับเบอร์ลินมาที่ประเทศไทยแล้ว ด้วยความที่คุณอิสเป็นผู้อยู่ในวงการประกวดแมวมานาน โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยง British Shorthair อย่างเต็มตัวนั้น เขาเคยเป็นผู้เพาะพันธุ์แมวไทยสีสวาดประกวดในระดับประเทศและคว้ารางวัลชนะเลิศถ้วยสมเด็จพระราชทานสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ติดต่อกัน 6 ปีซ้อน และยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนเรื่องเกี่ยวกับแมวไทยสีสวาดให้กับนิสิตสัตวแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน อีกด้วย
จากประสบการณ์ของเขาบอกว่าเบอร์ลินเป็นแมวที่มีความสามารถที่จะเข้าสู่วงการประกวดแมวได้ จึงเริ่มส่งเสริมให้เบอร์ลินเข้าสู่วงการประกวดแมว
แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องการประกวดแมวของเบอร์ลิน เราคงต้องขอเล่าเกี่ยวกับรายละเอียดการประกวดแมวของทาง CFA เพื่อให้เข้าใจกันซักเล็กน้อย การประกวดแมวของทาง CFA นั้นเริ่มต้นจากการที่เราพาแมวไปสมัครประกวด หากแมวของเราสามารถผ่านเกณฑ์เข้าประกวดได้ แมวตัวนั้นจะได้รับตำแหน่งแชมป์เปี้ยนทันที ซึ่งคุณอิสได้พูดติดตลกว่าด้วยเหตุนี้เลยทำให้มีคนอ้างว่าแมวตัวเองมีตำแหน่งเป็นแชมป์เปี้ยนมากมาย
หลังจากนั้นแมวทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์จะมาประกวดแข่งกัน กรรมการจะเลือกแมวที่ดีที่สุดขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ในแมวจำนวนนั้นจะได้รับการให้คะแนน ซึ่งคะแนนต้องสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงได้รับตำแหน่ง แกรนด์แชมเปี้ยน (GC)
ซึ่งในส่วนนี้เบอร์ลินจะพิเศษกว่าแมวตัวอื่นใน GC ด้วยกัน เพราะเบอร์ลินได้ตำแหน่ง Grand Champion Distinction (GCD) ด้วย ซึ่งการจะได้ตำแหน่งนี้ต้องเป็นแมวที่สามารถเข้ารอบไฟนอล 10 ตัวสุดท้ายของการประกวด เป็นจำนวน 30 ครั้งใน 1 ปี รวมทั้งหมด 3 ปี ซึ่งเบอร์ลินเป็นแมวที่ได้ตำแหน่ง GCD เป็นตัวแรกของประเทศไทย และเป็นตัวที่ 2 ของทวีปเอเชีย
ส่วนตำแหน่งที่เหนือขึ้นไปจากนี้ คือ ดิวิชั่น วินเนอร์ (DW) ซึ่งคือตำแหน่งแมวที่ดีที่สุดของประเทศนั้นๆ DW จะเป็นการประกวดแบบเป็นซีซั่น เริ่มจาก 1 พฤษภาคม ของทุกปี ไปจบลงใน 30 เมษายน ปีถัดไป แต่ละประเทศจะมีจำนวน DW สัมพันธ์กับจำนวนการจัดงานประกวดแมวในประเทศนั้นๆ โดยในประเทศไทยจะมีแมวที่ได้รับเลือกเป็น DW ปีละประมาณ 5 – 10 ตัวต่อปี
ส่วนที่เหนือกว่า DW คือ ตำแหน่ง National Winner (NW) หรือตำแหน่งแชมป์จากทั่วโลก โดยมีเกณฑ์คือทั่วโลกแบ่งออกเป็น 3 โซน เป็นสหรัฐอเมริกา 1 โซน จีนอีก 1 โซน ส่วนโซนสุดท้ายคือโซนประเทศที่เหลือหรือโซนอินเตอร์เนชั่นแนล โดยที่แต่ละโซนจะมีโควต้าแมวที่ได้รับตำแหน่ง NW 25 ตัว โดยแมวที่มาแข่งนั้นหากได้คะแนนสูงสุด 25 อันดับแรกและมีคะแนนสะสมจากการประกวดไม่ต่ำกว่า 4,300 คะแนน จะได้รับตำแหน่ง NW ซึ่งปัจจุบันเบอร์ลินได้รับตำแหน่ง Best Cat หรือ NW ลำดับที่ 1 จากโซนอินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2015-2016 และเพิ่งไปรับรางวัลในงาน CFA Annual Lasvegas, Nevada ในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านมานี้เอง
เบอร์ลินเริ่มต้นการแข่งประกวดแมวครั้งแรกตอนที่อายุเพียง 8 เดือน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปกติที่เริ่มประกวดแมวกัน แต่คุณอิสเชื่อในความสามารถของเบอร์ลินจึงส่งประกวดดูและปรากฏว่าเบอร์ลินสามารถคว้าตำแหน่งแกรนด์แชมป์เปี้ยนมาได้เลยในการแข่งครั้งแรก ซึ่งศัพท์ในวงการประกวดแมวเรียกว่า One Show Grand และยังเหนือกว่านั้นอีกเมื่อเบอร์ลินสามารถทำสถิติ One Day Grand ได้อีกด้วย
“ปกติในการประกวดจะมี 2 วัน เบอร์ลินได้ตำแหน่ง Grand Champion ตั้งแต่วันแรก เลยสามารถเรียกได้ว่าเป็น One Day Grand เท่กว่าตัวอื่น และยังชนะแมว Grand Champion ตัวอื่นๆ จนเป็นตัวแทนเข้ารอบไฟนอลอีกด้วย”
หลังจากที่ได้ตำแหน่ง Grand Champion มาแล้ว เบอร์ลินก็ได้ก้าวคว้าตำแหน่งแชมป์ไปเรื่อยๆ จนหลายคนในวงการประกวดถึงกับกล่าวว่าเป็นแมวไร้พ่าย และได้ตำแหน่ง Division Winner ของประเทศไทยมา 3 ปีซ้อน จนกระทั่งในงาน CFA International Cat Show 2015 ที่เพิ่งผ่านมา เบอร์ลินสามารถคว้าตำแหน่งแมวขนสั้นที่มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของริงสีม่วง (ใน CFA international Cat Show จะแบ่งการแข่งออกเป็น 2 ริง คือ สีม่วงและสีแดง เป็นเหมือนการแข่ง 2 งาน ในงานเดียวกัน โดยชื่อตำแหน่งเต็มๆ ที่เบอร์ลินได้ในงานนี้คือ 2nd Best Shorthair in Purple Ring) เรียกได้ว่าสูสีกับแมวที่ได้ลำดับที่ 1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ Manx ของกรรมการชาวอเมริกันซึ่งเฉือนคะแนนชนะไปเพียงนิดเดียว
ล่าสุดและน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือเบอร์ลินได้ตำแหน่ง Best Cat หรือแมวที่มีคะแนนรวมสูงสุดอันดับ 1 ในโซนอินเตอร์เนชั่นแนล และยังได้รับตำแหน่งแมวพันธุ์ British Shorthair ที่มีคะแนนสูงสุดอันดับที่ 2 ของโลก ประจำปี 2015-2016 ของทางสมาคม CFA อีกด้วย
3.
เมื่อถามว่าอะไรคือเคล็ดลับของความสำเร็จในการประกวดแมวระดับโลกนั้น คุณอิสบอกว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความใส่ใจและมุ่งมั่นที่มากกว่าคนธรรมดา
“ไม่ว่าจะเลี้ยงแมวหรือจะทำอะไร สิ่งสำคัญคือต้องใส่ใจแล้วก็สนใจ ต้องศึกษา ต้องบ้าคลั่ง จะเป็นที่ 1 ได้ก็ต้องชนะหมด ทุกคนเขาก็อยากชนะ เพราะอย่างนั้นเราจึงต้องบ้ามากกว่าคนอื่น เราจะต้องรู้มากกว่าคนอื่น ทำการบ้านมากกว่าคนอื่น ไม่รู้นะ ถ้าเรื่องอื่นเราอาจจะสู้ใครไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องประกวดแมวผมคิดว่าผมไม่แพ้ใครเหมือนกัน”คุณอิสยิ้มกวนๆ
แต่นอกจากความใส่ใจและมุ่งมั่นแล้ว แมวที่เข้าประกวดเองก็ต้องเป็นแมวที่อยากประกวดด้วย ตรงนี้พี่อิสขยายความว่าแมวบางตัวมีลักษณะดีก็จริง แต่ถ้าตื่นคน ไม่ชอบเข้าประกวดแล้ว ฝืนอย่างไรก็ฝืนไม่ได้
“เราต้องคอยดูว่าแมวของเรามีความสุขกับการโชว์หรือการประกวดหรือเปล่า ถ้าบางครั้งแมวเขาไม่มีความสุขหรือเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อโชว์ เราก็ไม่ควรไปฝืนประกวด เช่น ออกอาการตื่นกลัว อาการก้าวร้าว แบบนี้ก็อย่าไปฝืนเลย ต้องเข้าใจว่าแมวเขาไม่ได้มาเพื่อทางสายนี้”
หากเปรียบไปแล้วก็คงเหมือนกับการเป็นนักร้องหรือนักแสดงที่เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นได้ แต่โชคดีที่เบอร์ลินเป็นแมวที่เกิดมาเพื่อประกวดอย่างแท้จริง คุณอิสถึงกับบอกว่าเบอร์ลินนั้นเป็นแมวที่ born to be show เลยทีเดียว
“เวลามีการประกวดนั้นจะมีเสาหน้าตาคล้ายโพเดียมเพื่อให้แมวข่วน ถ้าเบอร์ลินลงแข่งจะพบว่าเขาเดินไปหาเสาแล้วข่วนเอง และไม่เคยออกอาการเครียดหรือก้าวร้าวใส่กรรมการเลย”คุณอิสเล่าให้เราฟัง “ความจริงก็มีการฝึกไปบ้างเหมือนกันนะ ส่วนใหญ่คือฝึกให้เขาคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประกวด และฝึกไม่ให้ตื่นคน เทคนิคก็คือเปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือให้เจอคนแปลกหน้าในครอบครัวเราบ้าง เพราะในฮอลล์แสดงโชว์บางครั้งจัดในห้างสรรพสินค้า จัดในโรงแรมมันมีเสียงดัง เป็นการเทรนด์แบบกลายๆ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วแมวมันโชว์ไม่ได้ มันไม่ใช่จริงๆ เราก็ฝืนมันไม่ได้เหมือนกัน”
4.
“แมวพันธุ์นี้ ยิ่งแก่ ยิ่งสวย”
เมื่อเราถามคุณอิสว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจมาเลี้ยงแมวพันธุ์ British Shorthair อย่างจริงจัง เขาก็ตอบง่ายๆ ว่าแมวพันธุ์นี้มีสเน่ห์ทั้งลักษณะรูปร่างและนิสัยที่ไม่เหมือนใคร
“สุดยอดเสน่ห์ของ British Shorthair คือเป็นแมวที่นิ่งเงียบเรียบร้อย สภาวะทางอารมณ์มั่นคง ไม่ทำลายข้าวของ ไม่ส่งเสียงดังรบกวน เรียกได้ว่าเป็นแมวที่เหมากับไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองที่สุด และโดยธรรมชาติของแมวพันธุ์นี้เขาจะใช้เวลา 70 – 80% เพื่อนอน อีกประมาณ 20% จะเป็นการเลียขนทำความสะอาดตัวเอง มีกิจกรมน้อย เวลาทำงานเราก็ทำไป แมวมันก็ไม่ยุ่งอะไรกับเรา เรากลับมาเรามีเวลาให้เขาสัก 5 นาที เขาก็อยู่ได้แล้ว”ว่าแล้วคุณอิสจับเบอร์ลินขึ้นมาลูบขนให้เราดู
“ที่สำคัญคือแมว British Shorthair เป็นแมวที่อายุยืนและยิ่งแก่ยิ่งสวย จุดเด่นที่ทุกคนเห็นตั้งแต่แรกคือ ‘แมวอะไร แก้มโคตรใหญ่ หัวก็ใหญ่’ ตาดูดุ แต่นิสัยกลับเป็นแมวเรียบร้อย มันดูมีความแตกต่างในตัวของมันเอง”
ทุกวันนี้คุณอิสอยู่กับเบอร์ลินและนอนด้วยกันตลอด ใกล้ชิดกันขนาดที่เวลานอนจะต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายติดกันตลอดเวลา เช่น เอาขามาก่าย หรือนอนบนอก ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พี่อิส เบอร์ลินจะไม่ทำเลย จนอาจบอกได้ว่าอยู่ด้วยกันมานานจนสามารถเข้าใจกันได้แล้ว
“พออยู่ด้วยกันมานานๆ เราก็รู้สึกว่าบางทีความรู้สึกมันก็สื่อถึงกันได้นะ โดยเฉพาะเวลาประกวด แมวเขาจะรับรู้ได้เลยว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ กำลังดีใจ กำลังเสียใจ หรือกำลังตื่นเต้น พวกนี้แมวรู้หมดเลยนะ”
5.
เราทุกคนล้วนเป็นผู้ชนะ
นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราประจักษ์อย่างชัดเจนจากการพูดคุยกับคุณอิสเป็นเวลาหลายชั่วโมง สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้คุณอิสประสบความสำเร็จในการประกวดแมวระดับโลกนี้ มาจากความเชื่อของเขาที่ไม่เคยยอมแพ้ให้กับเรื่องอะไรง่ายๆ พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และทำงานหนักยิ่งกว่าใครๆ
“ไม่ใช่แค่เรื่องประกวดแมวเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม หากคุณลงมือทำอะไรแล้ว คุณก็ต้องบ้ากับมัน ต้องบ้าให้เยอะ บ้าให้หนัก ถ้าชอบก็ศึกษาทุกอย่างแล้วไปลองผิดถูกให้สุดทาง”พี่อิสพูดอย่างจริงจังทั้งน้ำเสียงและแววตา
“ผมเชื่อว่าลึกๆ ในใจทุกคนไม่มีใครอยากแพ้หรอก เพราะพอเกิดมาทุกคนก็เป็นผู้ชนะแล้ว ถ้าพยายามแล้วเดินหน้าไปเรื่อยๆ มันย่อมมีหนทางเสมอ ไม่มีหรอกคำว่ามืด 8 ด้าน ให้เต็มที่อย่างมากที่สุดชีวิตก็มืดแค่ 7 ด้าน มันต้องมีทางสว่างสักทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเรากล้าพอหรือเปล่า ไม่มีใครทำแล้วเจ๊งอย่างเดียว ถ้าเราหยุดคือเจ๊งจริง แต่ถ้าเราไม่หยุด เรายังมีลมหายใจอยู่ ยังเห็นแสงตะวันอยู่ เราก็ต้องทำได้สักทาง”
เพราะบนโลกนี้ไม่มีใครสามารถหยุดเราให้เป็นผู้ชนะได้…นอกเสียจากตัวเราเอง
แม้คุณอิส-อิสริย จะไม่ได้พูดปิดท้ายไว้อย่างนั้น แต่เราก็รู้สึกว่าเรื่องราวของเขาและเบอร์ลินที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้นนั้น
กำลังบอกกับเราอย่างนั้นจริงๆ
Facebook : British Cat Club Thailand by Sri-sawasdee Cattery