ความคิดสำเร็จรูปที่ถูกย่อย ปรุงแต่งเสร็จสรรพ พร้อมเสิร์ฟให้ผู้รับ ฝังความเชื่อ ความเข้าใจ ปะปนความงมงาย เสมือนลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ผ่านระบบวิเคราะห์อันซับซ้อนของมนุษย์ ความคิดเหล่านี้มีอยู่บนสื่อหลักๆ ในสังคมมากมายเต็มไปหมด ความจริง-เท็จถูกยำรวมอยู่ในภาชนะขนาดใหญ่ อยู่ที่คนเสพจะเลือกเชื่อสิ่งไหน รู้ทันแค่ไหน อย่างเช่นสื่อประเภท ละคร ดนตรี หรือภาพยนตร์ ที่มักมาในรูปแบบสื่อความคิดสำเร็จรูป นอกจากจะให้ความสนุกความบันเทิงแล้ว ก็ยังทำหน้าที่บรรจุความคิดหรือสารที่มีอิทธิพลต่อผู้เสพอีกด้วย
Howl ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงหนังเรื่องไหนน่าดู เรื่องไหนน่าสนใจ แต่จะมาพูดคุยกับ พี่เล็ก-คงเดช จาตุรันต์รัศมีนักร้องนำ นักแต่งเพลง วง “สี่เต่าเธอ” นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของรางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ จากภาพยนตร์เรื่อง “ตั้งวง” และมีผลงานภาพยนตร์ที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างอีกมากมาย อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสยิว, เฉิ่ม, กอด, แต่เพียงผู้เดียว และผลงานชิ้นล่าสุด Snap ที่หลายๆ คนชื่นชอบ โดยเราได้พูดคุยถึงแนวคิดการใช้ชีวิต การทำงาน และประสบการณ์ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากๆ คนหนึ่งของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์
อาจเพราะโชคดีที่เรารู้ตัวเร็ว มันเริ่มจากการที่เราชอบดูหนังเหมือนคนทั่วๆ ไป แล้วก็ได้ดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อ Chariots of Fire เป็นหนังปี 1981 ว่าด้วยเรื่องนักวิ่งโอลิมปิก คนหนึ่งวิ่งเพื่อพระเจ้า ส่วนอีกคนหนึ่งวิ่งเพื่อชีวิตตัวเอง จำได้ว่าไปดูเรื่องนี้คนเดียว พอดูจบเราก็ร้องไห้ ร้องไห้ในความรู้สึกในความรู้สึกที่แตกต่างไป ไม่ใช่ความรู้สึกแบบปฐมภูมิ ที่เสียใจ ดีใจ เศร้า หรือตกใจ แต่มันเป็นอะไรที่เราอธิบายไม่ได้ ก็เลยอยากรู้ว่าใครกันนะที่สร้างสิ่งนี้ สร้างความรู้สึกแบบนี้ให้กับคนดูได้ขนาดนี้ นั่นคือผู้กำกับนั่นเอง ตั้งแต่นั้นก็รู้สึกว่าอาชีพการทำหนังมันน่าสนใจจากนั้นช่วงเอนทรานซ์เราก็เลือกคณะที่เรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ ที่ลาดกระบัง ตอนนั้นทุกอย่างยังเป็นอนาล็อกไปซะหมด ถ่ายภาพก็ยังใช้ฟิล์ม 16 มม. ถ่ายวีดีโอก็เป็นยุคที่เครื่องใหญ่มาก ยุคยูเมติค (U-matic) ให้พูดไปก็คงไม่รู้จัก เพราะมันโบราณมาก (หัวเราะ) คือไม่มีอะไรที่เป็นดิจิตอลในแบบสมัยนี้เลย เมื่อเข้าไปเรียนก็ได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น สมัยก่อนหนังหาดูยากถ้าไม่ได้ฉายในโรงหนัง หนังที่อาจารย์ให้ดูก็จะเป็นหนังยุคปี 70 ซึ่งเราดูแล้วไม่อิ่มก็เลยต้องไปตามหาดูหนังยากๆ ตามสถาบันต่างๆ อารียอง (Alliance Française), เกอเธ่ (Goethe-Institut), หอภาพยนตร์ไทยบ้าง ที่มีการฉายหนังทุกๆ อาทิตย์ ซึ่งก็มีอีกหลายที่ และก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบดูหนังด้วยกัน แต่จะเข้าเมืองทั้งทีการเดินทางไม่ได้สะดวกเหมือนสมัยนี้ มีแค่รถไฟ บางทีก็นั่งรถบัสบ้าง มันเป็นช่วงที่เราได้ดูหนังใหม่ๆ เยอะมาก เปิดโลกทัศน์และทำให้เราเข้าใจว่าหนังสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่สร้างอารมณ์เหมือนกับหนังที่เราเคยได้ดูมาเสียอีก
สไตล์การทำงาน
มันเปลี่ยนไปตามชีวิตเรามากกว่า เดิมทีเราเริ่มทำหนังด้วยความเคร่งเครียด พยายามทำให้หนังได้ตรงตามบทที่สุด แต่ภายหลังก็เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และเริ่มเข้าใจวิธีทำหนังของเราชัดเจนขึ้นก็ตอนทำหนังเรื่อง “เฉิ่ม” คือเป็นหนังที่เราสร้างเอง และจะมีความพยายามที่จะต้องตอบคำถามบางอย่างที่เราสงสัยอยู่ให้ได้ มันก็เลยเป็นเรื่องชีวิตใกล้ตัวบางอย่าง ตัวละครในเรื่องก็จะมีความเป็นร่างทรงของตัวเรา อาจเพราะเราเป็นคนมีปัญหา มีคำถาม เลยใช้หนังเป็นเครื่องมือบำบัดในการหาคำตอบหรือแก้ปัญหาเหล่านั้นให้บรรเทาลงไป ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้คำตอบ
ว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์อินดี้
งานของเราก็ไม่ได้อินดี้นะ เราก็เคยทำหนังกับสตูดิโอมาก่อน อย่างเรื่องสยิว (สหมงคลฟิล์ม), เฉิ่่ม (สหมงคลฟิล์ม) , หรือ กอด (GTH) แต่เรามองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไปพฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไป ระบบโรงภาพยนตร์ เศรษฐกิจ มีผลทำให้วิธีคิดวิธีเลือกดูหนังของคนดูเปลี่ยนไปด้วย ง่ายๆ คือเมื่อก่อนตลาดเปิดกว้างกว่านี้ นายทุนก็ต้องเลือกตามใจอุปสงค์ของคนดูนำพาให้ตลาดหนังไทยแคบลง เพราะส่วนใหญ่นายทุนก็จะมองว่าหนังจะต้องทำเงิน ต้องมีกำไร หนังแปลกๆ ส่วนใหญ่ก็จะตกไปอยู่นอกอุตสาหกรรมซะมาก
จากการเมืองถึงภาพยนตร์
ฉากการเมืองในภาพยนตร์ของผมไม่ได้มีนัยยะอะไรหรอก เพียงแต่การเมืองในปัจจุบัน มันอยู่ในชีวิตประจำวันมากอย่างปฏิเสธไม่ได้ ต่างจากเมื่อก่อนที่เราเลือกจะไม่อ่านข่าวการเมืองในหนังสือพิมพ์ก็ได้ ข้ามไปอ่านข่าวซุบซิบดาราดูผลบอลได้เลย แต่อย่างยุคนี้มีสื่อโซเชียลมีเดีย ข่าวการเมืองแทบจะผ่านตาเราทุกๆ ชั่วโมงที่หยิบจับมือถือ และมันก็มีผลต่ออารมณ์ของผู้คนมากขึ้น เพราะฉะนั้นที่เราใส่เนื้อหาการเมืองลงไปก็เพื่อให้คนตระหนักถึง หรือเป็นหมุดทางประวัติศาสตร์ว่าช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้นมากกว่า ซึ่งเราไม่ได้สนใจว่าฝ่ายไหนถูกผิดอย่างไร แต่สนใจว่ามันมีผลกระทบกับชีวิตเรายังไงมากกว่า
ผลงานที่รักมากที่สุด
สำหรับผมทุกเรื่องมันมีค่า มีความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะมันเหมือนเป็นหมุดชีวิต อย่างตอนเราอายุสามสิบเรามีความคิดอย่างไร เราเคยมีความคิดแบบนี้หรือนี่ มันเป็นวิธีคิดของวัยที่พอมองย้อนไปก็เขินๆ ดีนะ
จากการทำงานในสตูดิโอ สู่ผู้กำกับภาพยนตร์”อิสระ”
หนังเรื่อง “กอด” เป็นเรื่องสุดท้ายที่เราได้ทุนสร้างจากสตูดิโอซึ่งก็คือ “GTH” โดย “กอด” เป็นงานที่เรารักมาก เต็มที่มากตอนที่ได้ทำเรื่องนี้แต่กลับไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเท่าที่ควร ก็เลยกลับมาทบทวนตัวเองว่าหนังของเราคงอยู่ในระบบต่อไปไม่ได้แล้ว หรือว่าจะเลือกทำหนังที่ขายง่ายขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะพูดอยากจะสื่อออกมา ก็เลยคิดที่จะออกมาทำอย่างอิสระดีกว่า แรกๆ ก็กลัวมากเพราะเราไม่เคยทำแบบอิสระมาก่อน ไม่เคยขอทุน ไม่เคยเอาหนังไปฝากฉายในโรง หรือขั้นตอนการประชาสัมพันธ์ใดๆ เพราะสตูดิโอทำให้เราหมด พอจะเริ่มทำเรื่องแรก “แต่เพียงผู้เดียว” ก็เลยใส่ใจกับเรื่องการตลาดมากหน่อย ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอในแง่ธุรกิจอยู่ดี และมันยังไม่เกิดเป็นวงจร หมายถึง พอเราทำหนังเรื่องหนึ่งเสร็จก็ต้องไปหาทุนเพื่อมาทำเรื่องใหม่ เลยคิดว่าถ้าได้กำไรมากเพียงพอที่จะสร้างหนังเรื่องต่อไปก็จะดีและอยู่ได้ ล่าสุดผลตอบรับจากเรื่อง “Snap” ก็ถือว่าใกล้เคียงความจริงมากแล้ว มันเริ่มแสดงให้เห็นพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกันนะ ทีนี้เป็นการบ้านของเราแล้วว่าจะสร้างจุดพื้นที่ตรงกลางให้กับความต้องการของคนดูกับงานของเราได้อย่างไร
วงการหนังไทย
เราก็ไม่รู้อนาคตนะ ตอนนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามันแย่มาก ผู้กำกับหลายๆ คนก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการทำหนังยาว เพราะอย่างในสตูดิโอหนังใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่เรื่องต่อปี มันไม่พอเลี้ยงผู้กำกับทุกคนหรอก ก็เลยต้องไปหางานเสริมกัน กำกับโฆษณาบ้าง ซีรีย์ละคร มิวสิกวีดีโอบ้าง เราก็เหมือนกัน 4 ปีมานี้ เรามีหนังทุกปีเลยนะ ตั้งแต่ “แต่เพียงผู้เดียว” มาถึง “Snap” จริงๆ ก็เยอะมากนะ ก็เลยกะว่าจะพักสักหน่อย แต่ก็ต้องทำอย่างอื่นเสริมหาเลี้ยงตัวเองเพื่อจะได้กลับมาทำหนังอีก วงการหนังไทยเลยยังเรียกว่าอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะ คนสร้างหลักๆ ยังไม่สามารถอยู่ด้วยมันจริงๆ ได้
หัวใจของการสร้างภาพยนตร์
เงิน ! (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันก็สำคัญทั้งเงินทุนและความคิดของคนทำนั่นแหละ ซึ่งแน่นอนเงินเป็นปัจจัยที่มันจำเป็นต่อการกินการใช้ อย่างเราทำหนัง เราก็มีทีมงาน คนทำงานทุกคนก็ต้องกินข้าว เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นสิ่งที่ทำให้ความคิดของคนทำงานนั้นขับเคลื่อนไปได้ อย่างวันนี้เราก็มาดูสถานที่สำหรับหนังสั้นที่เราทำให้กับไทยพีบีเอส ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ฟังดูจริงจังใช่ไหม (หัวเราะ) เป็นโปรเจกต์ที่มีหลายๆ คนมาร่วมกัน เช่น ตั้ม พัฒนะ (Looking Through The Glasses) ,นุช พิมผกา (The Island Funeral) และอีกหลายๆ คนในสายทำหนังสั้น มาร่วมทำกันด้วยเงินทุนน้อยมากๆ แต่มันก็ช่วยให้เราได้บริหารสมองดีเหมือนกัน เพราะมันหมายถึงว่า แม้จะมีเงินทุนน้อยมากๆ แต่กูก็ทำได้นะ
สิ่งบันดาลใจที่ทำให้ยังสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง
คงเพราะว่าเรายังมีปัญหาในชีวิตอยู่ไง ถ้าเราไม่มีปัญหา ไม่มีคำถาม ก็คงไม่ทำหรอก ทำหนังเรื่องหนึ่ง เหนื่อยจะตายห่า ต้องห่างจากลูกจากเมีย อีกทั้งยังต้องเบียดเบียนคนอื่นเวลาถ่ายทำ ต้องกันรถขวางทางรถบ้าง สั่งชาวบ้านคนทั่วไปให้เงียบบ้าง มันเดือดร้อนคนอื่นไปหมดเลย แต่ที่ทำก็เพราะคำถามมันค้างคา อึดอัด เพราะใจมันต้องการจะหาคำตอบ ในทุกครั้งที่เราสร้างหนังก็เพื่อแก้ปัญหาคาใจเหล่านั้นอย่างเรื่อง “แต่เพียงผู้เดียว” ชัดเจนมากเพราะเป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ คือเป็นช่วงที่เราเพิ่งออกจากระบบที่เคยทำหนังกับสตูดิโอ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราคือใคร เราคือคนทำหนังแบบไหนกัน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวตนอยู่พอสมควร “แต่เพียงผู้เดียว” ก็เลยเป็นหนังที่ว่าด้วยการหาตัวตนของมนุษย์อะไรทำนองนั้น
ฝากถึงคนทำหนังรุ่นใหม่
ไม่เห็นมีอะไรน่าฝากถึง หมายถึงว่าวัยรุ่นยุคนี้ใครที่อยากจะทำหนังเขาก็ลงมือทำกันแล้ว ยิ่งตอนนี้เครื่องมือเครื่องไม้พร้อมกว่าสมัยก่อนสารพัด ทุกคนมีกล้อง มีโปรแกรมตัดต่อคือไม่ว่าใคร ก็ทำหนังได้ด้วยมือคนๆ เดียวหมดแล้ว ส่วนใครที่อยากจะเป็นคนทำหนังจริงๆ พยายามเข้าใจก่อนว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะว่าหลายๆ คนอาจจะมีผู้กำกับในดวงใจ เลยอยากจะเป็นแบบคนนั้น คนนี้ แต่ลองตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าทำไมเราถึงอยากทำหนัง เพราะหนังแต่ละเรื่องมันมีเหตุผล ที่มาที่ไปของมัน ยิ่งสมัยนี้รูปแบบของหนังและการนำเสนอมันเปลี่ยนไป มีหนังเกลื่อนกลาดไปหมด บ้างก็มีความคิดแบบผิดๆ ออกมาเยอะ ลองหาเหตุผลดีๆ ที่ผลงานชิ้นนั้นๆ ของเรา ควรจะมีอยู่ให้สักหน่อย รับผิดชอบต่อสิ่งที่สร้างขึ้น เพราะอาจจะมีคนที่ได้รับผลกระทบต่องานที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ความประทับใจและความสุขของคงเดช จาตุรันต์รัศมี
ไม่มีหรอกในมุมของการทำงาน ด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ ทำหนังมาก็เยอะมากแล้ว ความสุขของเราเลยอยู่ที่ครอบครัวมากกว่า ได้เห็นคนที่เราดูแลอยู่มีความสุข ทั้งลูก ภรรยา และสุนัขบีเกิ้ลที่เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กซึ่งเรารักมาก แต่ก็รู้ว่าอีกไม่นานมันก็คงต้องไป เพราะมันแก่มากแล้ว แต่ด้วยอาชีพของเรา มันไม่ง่ายนัก เวลาเลยไม่แน่นอน หลังจากนี้คงทำหนังเฉพาะเรื่องที่เราอยากทำจริงๆ และให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น