Web Exclusive
เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้น เรามีคนฟังเพลงอารมณ์เดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่เราไม่รู้ เจอเพื่อนใหม่จากการฟังเพลง มันอาจไม่ร่ำรวยเงินทองมากนัก แต่แค่ได้อยู่กับสิ่งที่รักที่พอใจ ก็มีความสุขแล้ว ผมก็ว่าจะทำไปเรื่อยๆ นะ จนกว่าจะไม่มีเพลงให้เราขาย

Until no sound to hear – ร้านน้อง ท่าพระจันทร์

เรื่อง : นายขนมขบเคี้ยว ภาพ : Bluebird fly

ดนตรี…ไม่ใช่งานศิลปะที่ไม่มีมูลค่า

กระบวนการทำเพลงหรือทำดนตรีชิ้นหนึ่ง ต้องใช้เงิน เวลา ความคิด และทักษะความสามารถของเหล่านักดนตรีนักร้อง นักแต่งเพลง ก็คงเหมือนๆ กับงานศิลปะหรือสิ่งประดิษฐ์ทั่วไปนั่นแล แต่ในยุคที่เพลงถูกปล่อยให้ฟังกันฟรีๆ บนโลกออนไลน์ แถมมีมิวสิควีดีโอให้ดูกันเพลินๆ กลับทำให้คนฟังบางกลุ่มบางคนเข้าใจว่าเพลงหรือดนตรีไม่ได้มีต้นทุนอะไร เป็นที่มาของความยากลำบากในการสร้างรายได้ของศิลปินยุคหลังๆ มานี้ เพราะการผลิตซีดีเพื่อนำผลงานมาขายนั้นยากขึ้น และปัจจุบันอาจจะขายได้เฉพาะแฟนเพลงตัวจริงเท่านั้น เงินหมุนเวียนในระบบการซื้อขายแผ่นซีดีเพลงจึงเริ่มน้อยลงต่างจากสมัยก่อนในยุคที่เทปแคสเซ็ทยังขายได้เป็นล้านๆ ตลับ

ธุรกิจร้านขายเพลงก็ล้มหายตายจากกันไปตามสภาพ กลายเป็นระบบขายเพลงแบบออนไลน์อย่างในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีร้านขายเพลงแห่งหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดแม้รู้ดีว่าธุรกิจขายเพลงกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านนี้ไปแล้วก็ตาม เป็นร้านแห่งความหวังของวงการเพลงในทุกยุคทุกสมัย และใครที่บอกว่าตัวเองเป็นนักฟังเพลงตัวจริง (ขอย้ำว่าตัวจริง!!) จะต้องไม่มีใครไม่รู้จักร้านในตำนานที่อยู่ริมน้ำท่าพระจันทร์แห่งนี้อย่างแน่นอน “น้องท่าพระจันทร์”

พี่นก อนุชา นาคน้อย คือผู้ร่วมก่อตั้งและดูแลร้าน “น้องท่าพระจันทร์” มาถึงปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นคนหลงใหลในเสน่ห์ของดนตรี เป็นนักฟังเพลงตัวจริง และจริงใจกับสิ่งที่รัก ทำให้พี่นกสร้างร้านนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักฟังเพลงเป็นอย่างมาก เป็นที่รักและเป็นจุดเริ่มของศิลปินที่นำผลงานมาฝากขายกับทางร้านจนมีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย และถือว่า Howl โชคดีมากๆ ครับ ที่ได้พูดคุยกับพี่นกอย่างใกล้ชิด ถึงเรื่องของร้านที่ถือได้ว่าเป็นตำนานที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน

 

ร้านขายเพลงแห่งท่าพระจันทร์

เดิมทีแล้วมีพี่ชายเป็นผู้บุกเบิก โดยมีพี่สาว และผมที่ในขณะนั้นยังเรียนมัธยมอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยอยู่ก็ช่วยๆ กันคิด ทีแรกเราก็คุยกันว่าถ้าเรามีร้านขายซีดีสักร้านหนึ่ง ก็คงสามารถฟังเพลงที่อยากฟังได้ตามที่เราพอใจ ประกอบกับสมัยเด็กเวลาเราไปร้านขายเพลงกับคุณพ่อ ทางร้านก็ไม่ค่อยให้การดูแลให้คำแนะนำที่ดีกับเรา เพราะเห็นว่าเราเป็นเด็ก เลยคิดว่าสักวันนึงถ้าเรามีร้านแบบนี้ เราก็จะดูแล ให้คำแนะนำกับลูกค้ากับแนวเพลงที่เขาชอบ ในช่วงแรกเริ่มพี่ชายที่เพิ่้งจบใหม่ๆ กับพี่สาวที่เรียนอยู่ปีหนึ่งก็จะเป็นคนดูแลหลักๆ ส่วนผมก็จะมาช่วยดูแลร้านในช่วงหลังเลิกเรียน แต่ภายหลังทั้งพี่ชายและพี่สาวมีอะไรให้ทำเยอะ พอผมเรียนจบก็เลยมารับช่วงดูแลต่อเนื่องแบบจริงๆ จังๆ จนถึงปีนี้ร้านน้องก็มีอายุประมาณ 36 ปีแล้ว (ตั้งแต่พ.ศ.2522)

 

แนวคิดริเริ่ม

ในช่วงแรกเราซื้อเพลงหรือสินค้าที่เราชอบก่อน เพราะมีแนวคิดที่ว่าถ้าเราขายไม่ได้เราก็ยังเก็บมันไว้ฟังเองได้ แต่ด้วยความโชคดีที่ในยุคนั้นธุรกิจเพลงเติบโตมาก ในยุคที่เป็นเทปแคสเซ็ท (Cassette Tape) ก็จะมีเทปผีแบบสมัยนี้เหมือนกัน เพราะใครที่ฟังเพลงสากลก็สามารถปั๊มเทปมาขายได้เป็นเรื่องเป็นราวโดยไม่มีกฏหมายลิขสิทธิ์เหมือนสมัยนี้ ก็จะมีอย่างเทปยี่ห้อ Peacock , 4Track และอีกหลายๆยี่ห้อ ซึ่งเราเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตแต่เราก็รับมาขายสำหรับเพลงสากล ส่วนเพลงไทยเราก็จะรับจากผู้ผลิตโดยตรงที่ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เป็นสินค้าในช่วงแรกๆของร้าน

 

IMG_0282

 

ภาพชัดจากยุครุ่งเรือง

หลังจากเปิดร้านมาได้ใหม่ๆ แต่เดิมทีคลื่นวิทยุก็จะมีแค่คลื่นวิทยุระบบ AM ซึ่งก็จะมีแต่ละคร มีเพลงลูกกรุงบ้าง และระบบ FM ก็ตามมาทีหลังก็ยังมีเพลงลูกกรุง ไทยเดิมบ้าง แต่พอมาในยุค Nite Spot ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดเพลงสากลอย่างเดียวและเป็นเพลงที่สดใหม่ และมีอีกหลายๆ รายการที่เริ่มจัดเพลงสากล ทำให้ตลาดเพลงสากลโตขึ้นมากในยุคนั้น และคนก็เริ่มตามหาเพลงสากลกันมาก ยิ่งทำให้วงการเพลงเริ่มได้รับอิทธิพลใหม่ๆ จากเพลงสากล ซึ่งผมจำภาพได้ชัดว่ามันเป็นยุคที่บูมสุดๆ

 

ความต่างในงานเพลงจากอดีต ถึงปัจจุบัน

ถ้าสังเกตดีๆ ศิลปินเก่าๆ มีทักษะการใช้ภาษาที่สละสลวย เป็นกวี เป็นนักเขียนที่เข้าใจหลักภาษาอย่างลึกซึ้ง เนื้อเพลงเป็นเหมือนบทกลอนที่สัมผัสมีความรู้สึก แต่ด้วยเวลาก็ทำให้ดนตรีเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามยุคสมัย และอาจเพราะด้วยแนวดนตรีทีทันสมัยขึ้นไม่เหมาะกับลักษณะภาษาของบ้านเรา ก็เลยอาจทำให้เสน่ห์ลดหลั่นลงไปตามกาลเวลา และการเป็นศิลปินในยุคนี้ ที่ใครๆ ก็เป็นได้สามารถสร้างผลงานเพลงกันเองได้ ขีดจำกัดของคนในการใช้ภาษาย่อมต่างกัน เลยจะเห็นได้ชัดในแง่ของการใช้ภาษา ในงานเพลงสมัยอดีตกับงานเพลงปัจจุบัน เพราะอย่างรุ่นใหญ่ที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันอย่าง พี่ดี้ นิติพงศ์ อัสนี-วสันต์ และอีกหลายๆ คน ต่างก็มีหลักภาษาที่แข็งแรงและเป็นที่ยอมรับ ส่วนในศิลปินรุ่นใหม่หลายๆ คนที่เหมือนจะไปได้ดี แล้วจู่ๆ ก็หายไป ภาคภาษาจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าภาคดนตรีเลย ซึ่งอยู่ที่ศิลปินแล้วว่าจะทำอย่างไรให้มันงดงามและคล้อยไปตามกันทั้งคำร้องและทำนอง

 

IMG_0252

 

คำถามที่ว่าวงการเพลงไทยกำลังตกต่ำ?

ต้องถามก่อนว่า คนที่ถามนี่ฟังเพลงจริงจังหรือเปล่า? หรือใครเป็นคนถามคำถามนี้? ถ้ามองในแง่ธุรกิจเพลงอย่างค่ายใหญ่ๆ แน่นอนว่าเศรษฐกิจไม่ดีย่อมส่งผลต่อธุรกิจทุกประเภทอยู่แล้ว อีกทั้งลักษณะการบริโภคของคนฟังก็เปลี่ยนไป เลยเป็นช่วงของการเปลี่ยนไปตามกลไกตามธรรมชาติของตลาด ส่วนถ้ามองในแง่ศิลปะที่ไม่มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งค้นพบความชอบในดนตรี เริ่มหัดเล่นกีต้าร์ ฝึกจับคอร์ด เขาไม่มองหรอกว่าวงการเพลงจะตกต่ำ เพราะมันมีอะไรน่าตื่นเต้นในโลกดนตรีให้เขาศึกษาอีกเยอะ ส่วนตลาดเพลงจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่ เพราะอย่างในตลาดซีดีมือสอง ราคาหยิบจับกันสูงมาก คนตามหางานเพลงเก่าๆ กันเยอะ โรงเรียนสอนดนตรีก็ผุดขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ด ผมเลยมองไม่เห็นว่ามันกำลังตกต่ำตรงไหนนะ

 

Live Session

ถ้าเราไม่สนับสนุนน้องคนนึงที่มีความสามารถ มีศรัทธาที่จะเล่นดนตรี แต่แค่เขาไม่มีชื่อเสียง เขาไม่มีแฟนเพลง อาจทำให้เค้าเสียโอกาสดีๆ ที่คนจะเห็นแสดงความสามารถของเขา เราจึงยอมเสียพื้นที่ในร้านของเราในเวลาทำการ 6-8 ชั่วโมงให้เลย แค่คุณมีผลงานและอยากแสดงให้ผู้คนได้เห็น คุณมีเพียงหน้าที่สะกดให้คนฟังเห็นว่าคุณมีดีพอให้คนติดตามคุณ เพราะแน่นอนศิลปินทุกคนต้องมี “เวทีครั้งแรก” เสมอ หากคุณมีความสามารถแต่ไม่มีโอกาส แล้วใครจะรู้ใครจะเห็น เราจึงมอบโอกาสให้สำหรับคนที่มีความสามารถได้แสดงสิ่งเหล่านี้ให้โลกรู้

 

IMG_0227

 

คนฟังเพลงมีสองประเภท

คนฟังประเภทแรกคือ ฟังเพื่อไม่ให้หูเงียบ ฟังคลอไปเรื่อยๆ ไม่ได้อิ่มเอมไปกับอรรถรสของเพลงมากนัก เปิดฟังเพราะเพลงนี้เพราะดี อยู่ในกระแส ที่จริงแล้วนี่คือคนฟังส่วนใหญ่ ส่วนคนฟังอีกประเภทคือ คนที่ฟังเพลงที่ฟังเพลงจริงๆ ชอบเพลงไหนก็จะพลิกปกซีดีมาดูว่าใครแต่งเพลงนี้ ใครเรียบเรียง หรือกระทั่งใครตีกลองในเพลงนี้ ศึกษาชีวิตศิลปินจริงๆ ซึ่งลูกค้าของร้านเราก็จะมีคนฟังแบบนี้อยู่เยอะ บางคนรู้กระทั่งมือกลองคนนั้น เคยไปทำวงโน้นแล้วไม่ดัง ก็เลยไปตีกลองให้วงนี้ ผมเองก็อึ้งๆ เหมือนกัน ที่เด็กๆ ติดตามถึงแบคกราวน์ชีวิตศิลปินได้ลึกขนาดนี้

 

ช่องทางการฟังเพลงที่มากขึ้น

ผมมองว่ามันดีนะ สำหรับคนฟังเพลงสามารถเลือกฟังเพลงหลากหลายได้มากขึ้น แต่ศิลปินคนทำเพลงจะเหนื่อยเพราะมีการแข่งขันสูง คนฟังเพลงมีทางเลือกเยอะ คุณเก่งพอที่จะแข่งขันกับศิลปินคนอื่นๆ หรือไม่ เพราะเมื่อก่อนมีศิลปินไม่เยอะเหมือนในสมัยนี้ที่ต้องแข่งกับศิลปินทั่วโลก และในปัจจุบันตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็เริ่มฟังเพลงสากลกันแล้ว ฟังเพลงญี่ปุ่น เกาหลี จีน อังกฤษ ถ้างานของคุณไม่ดีพอ แล้วคุณจะขายให้ใคร ใครจะฟังจากประสบการณ์ของผม อย่างงานของวงโลโมโซนิค เดอะเยอร์ส คนตามหากันตลอด เพราะงานเขาดี ผมเชื่อว่าถ้าชิ้นงานดี ยังไงก็ขายได้ แต่อาจจะต้องเหนื่อยทำการตลาดสักหน่อยเพื่อให้คนได้รู้จักรู้ว่ามีผลงานของคุณอยู่

 

หัวใจของการทำร้านขายเพลง

เราต้องมีทีมงานที่ขยัน ต้องทำการบ้านว่าตอนนี้ตลาดเพลงเป็นอย่างไร อย่างเมื่อก่อนเราอ่านตามนิตยสารดนตรี ไลฟ์สไตล์ ก็จะมีแนะนำเพลงเราก็จะไปหามา แต่ยุคนี้คนฟังเพลงกว้างมากเราก็ต้องทำการบ้านมากขึ้นตามสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เพื่อตามดูพฤติกรรมการฟังเพลงของเพื่อนๆ ที่อยู่บนเฟสบุ๊กว่าเขาฟังอะไรกัน อย่างตอนนี้ที่ร้านเราได้โอกาสเป็นตัวแทนนำ The Last Shadow Puppets และ Nothing But Thieves มาทำตลาดในไทย เพราะมีคนแนะนำมาว่างานของพวกเขาน่าสนใจ ในทีแรกทั้งสองวงไม่ได้เล็งว่าจะมาทำตลาดในไทยเลย ใครที่อยากจะได้อัลบั้มก็ต้องสั่งนำเข้าอย่างเดียวซึ่งราคาจะสูงมาก แต่ด้วยความโชคดีที่เราได้เป็นตัวแทนนำเข้ามาราคาก็จะถูกลงไปมาก เพื่อลูกค้าของเราโดยเฉพาะ

 

IMG_0308

 

Vinyl’s Return

อย่างที่รู้กันว่าแผ่นเสียง (Vinyl) เคยหายไปช่วงนึงและกลับมาเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทั้งๆ ที่ราคาสูงกว่าแผ่นซีดี แต่เพราะอะไร ก็เพราะในราคาที่สูงกว่าแผ่นซีดีเพลงสากลไม่มาก การเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า อายุการใช้งานก็มากกว่ามาก ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อีกทั้งเจาะกลุ่ม Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) อย่างบางแผ่นผลิตเพียง 3000 แผ่น คนที่ได้ครอบครองก็จะรู้สึกว่าฉันเป็น 1 ใน 3000 นะ แล้วกลุ่มเป้าหมายก็เป็นนักฟังเพลงตัวจริง เลยกลายเป็นสิ่งที่น่าสะสม อย่างวัยรุ่นยุคนี้เค้าอาจจะไม่รู้ถึงอรรถรสของการฟังเพลงจากแผ่นเสียง เพราะเคยชินกับการฟังเพลงผ่านโทรศัพท์ หรือจากอินเตอร์เน็ตที่เป็นระบบดิจิตอลไปซะหมด วัยรุ่นเลยอาจจะไม่อินกับสิ่งๆ นี้มากนัก และด้วยวัฒนธรรมฟังเพลงที่กระจัดกระจาย เลยยิ่งทำให้คนโหยหาสิ่งเก่าๆ แผ่นเสียงจึงกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง

 

ความประทับใจจากการทำร้านน้อง

ผมได้เจอศิลปินหลายๆ คนตั้งแต่เค้ายังเด็ก อย่างป๊อด (Moderndog) คือเค้าเป็นรุ่นน้องสวนกุหลาบด้วย เราเจอเค้าตั้งแต่เริ่มเอางานมาฝากเราตั้งแต่เป็น E.P.(Extended Play) อัลบั้มแรก ทุกวันนี้เจอกันข้างนอกที่ไหนก็ยังเป็นน้องที่น่ารักเหมือนเดิม และมีศิลปินหลายๆ คนที่เป็นแบบนี้หรืออย่างเล็ก (Greasy Cafe) ก็น่ารัก ได้เจอกันตั้งแต่ตอนอัลบั้มแรก ตอนนี้เจอกันที่ไหนเมื่อไหร่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญของการเป็นศิลปินคือการรักษาตัวตนให้ดี มันเป็นเสน่ห์อย่างนึง ซึ่งก็มีอีกหลายๆ คนที่เรารู้จักและรู้สึกประทับใจในมิตรภาพที่ดีที่เราได้รับมาตลอด

 

สิ่งที่รักคือความสุข

เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้น เรามีคนฟังเพลงอารมณ์เดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่เราไม่รู้ เจอเพื่อนใหม่จากการฟังเพลง มันอาจไม่ร่ำรวยเงินทองมากนัก แต่แค่ได้อยู่กับสิ่งที่รักที่พอใจ ก็มีความสุขแล้ว ผมก็ว่าจะทำไปเรื่อยๆ นะ จนกว่าจะไม่มีเพลงให้เราขาย แต่ยังไงผมก็เชื่อว่ามันต้องมีนักดนตรีเกิดขึ้น ถ้าเศรษฐกิจมันสมบูรณ์แล้วจริงๆ งานศิลปะก็จะพัฒนาตามไปด้วย อย่างในประวัติศาสตร์ในยุคก่อนสงครามโลกที่ดนตรีเฟื่องฟูมาก หรือยุค 80’s หลังสงครามที่เศรษฐกิจดี ดนตรีก็ดีตาม

 

และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของนักฟังเพลงตัวจริง ที่พิสูจน์แล้วว่า กาลเวลาหรือข้อจำกัดของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่อาจทำให้ความตั้งใจของเขาต้องหยุดลง แล้วพวกเราหละ…ในยุคที่เสียงรอบตัวดังขึ้นมากมายขนาดนี้ ทำให้เราลืมฟังเสียงเสียงที่อยู่ในใจตัวเองกันไปแล้วหรือเปล่า