พลิกทะเลทรายให้กลายเป็นบ้านป่าสัตว์ป่าอีกครั้ง
แต่เดิม “ห้วยทราย” ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้เขียวชอุ่มและสัตว์ป่ามากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนได้เข้าไปบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำเกษตรกรรม จนทั้งต้นไม้และสัตว์ป่าหมดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล สภาพพื้นดินเสื่อมโทรมจนทำการเกษตรได้อย่างยากลำบาก
จนเมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ ห้วยทราย ได้ทรงเห็นความเสื่อมโทรมของผืนป่าและความทุกข์ยากของราษฎร จึงได้พระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่า
“หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”
ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยมีหน่วยงานมากมาย ทั้ง กรมที่ดิน กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมประมง และอื่นๆ เป็นผู้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ
แนวทางของโครงการนี้คือการพัฒนาทั้งคนและป่าไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อคนอยู่รอด ป่าก็อยู่รอดด้วย ในด้านของคนมีการพัฒนาอาชีพการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การจักสาน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรให้คืนสู่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
ส่วนโครงการพัฒนาป่านั้น เน้นไปที่การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สร้างแนวป้องกันไฟป่า โดยใช้ระบบป่าเปียก เช่น สร้างแนวคูคลอง และพืชเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงและอนุรักษ์ป่า และสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้
กิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย คือ แนวทางการปลูกป่า 3 อย่าง ได้แก่ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อทรายที่เมื่อก่อนเคยมีอยู่มากในแถบนี้ แล้วปล่อยเข้าสู่ป่าเพื่อเร่งสมดุลทางธรรมชาติ และการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันสารพิษต่อไป
ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปลูกแฝกด้วยพระองค์เอง
(รูปภาพจากเว็บไซต์ ผู้จัดการ)
ภาพทรงเสด็จเยี่ยมสมาชิกห้วยทราย
(รูปภาพจากเว็บไซต์ ผู้จัดการ)
ภาพเนื้อทรายในศูนย์เลี้ยงเพาะและขยายพันธ์สัตว์ป่าหัวทราย
(รูปภาพจากเว็บไซต์ : www.thai-tour.com)