แมวคราวคือแมวอะไร ทำไมจึงมีความจำเป็นในความเชื่อเรื่องการเกิดและการแต่งงาน
ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่าแมวคราวไม่ใช่แมวสายพันธุ์คราวแต่อย่างใด เป็นเพียงชื่อที่ใช้เรียกแมวตัวผู้อายุมากซึ่งอยู่ติดบ้าน ไม่เตร็ดเตร่ออกไปไหน หน้าตาดุเพราะมีอายุ หนวดยาวและมีหัวกลมขนาดค่อนข้างใหญ่นั่นเอง
ตามความเชื่อกล่าวว่าเมื่อเด็กอายุได้หนึ่งเดือนกับหนึ่งวัน จะต้องทำพิธีกรรมทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ) เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งที่ชั่วร้ายออกไปไม่ให้เข้าใกล้เด็ก และอีกหนึ่งพิธีที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือพิธีลงอู่หรือลงเปล โดยสิ่งที่จำเป็นจะต้องใช้ในพิธีนั้นก็คือหินบดยา ฟัก และแมวคราว วิธีการคือต้องอุ้มเด็กใส่ลงไปในเปลพร้อมกับของ 3 สิ่งนี้ ซึ่งของแต่ละชนิดก็มีความหมายต่างกันจนเป็นที่มาของพิธีกรรม โดยหินบดยา หมายถึง ให้ใจคอหนักแน่น ฟัก หมายถึง ให้ใจเย็นเป็นฟัก และแมวคราวเปรียบเหมือนแมวที่นอนอยู่ติดบ้าน ไม่เที่ยวเตร่
เช่นเดียวกันกับพิธีงานแต่งที่เจ้าแมวคราวนั้นก็มีบทบาทสำคัญกับคู่บ่าวสาวด้วย เมื่อถึงพิธีปูที่นอนเข้าหอของบ่าวสาวก็จะวางของเหมือนกับของที่ใช้สำหรับพิธีลงอู่ทั้ง 3 สิ่งนั้น ไว้บนเตียงด้วยเช่นกัน โดยความหมายก็จะคล้ายๆ กัน คือให้ทั้งคู่ใจเย็นเหมือนฟัก หนักแน่นเหมือนหินบดยา และอยู่กันเหย้าเฝ้ากับเรือนเช่นเดียวกับแมวคราว
ในสมัยก่อนนั้นมักนิยมใช้แมวที่มีชีวิตจริงๆ ตัวสีขาว อายุมาก แต่ปัจจุบันอาจด้วยไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน จึงอนุโลมให้ใช้เป็นตุ๊กตาหรือรูปปั้นเซรามิคแทนได้ โดยจะเลือกตัวที่นอนขด ให้มีลักษณะคล้ายกับแมวที่นอนเฝ้าบ้านนั่นเอง
ปัจจุบันเมื่อเวลาเปลี่ยนไป พิธีการเก่าๆ ก็เริ่มหายไปตามกาลเวลา พิธีเหล่านี้อาจจะไม่ได้พบเห็นได้โดยทั่วไปนัก และถึงแม้จะไม่ได้ใช้แมวจริงๆ ในพิธีกันแล้ว แต่ความเชื่อนี้ก็ยังคงมีอยู่ในคนหลายๆ พื้นที่ที่ยังคงอนุรักษ์พิธีกรรมดั้งเดิมไว้
แต่หากมาคิดดูแล้ว คงไม่ใช่มีเพียงแค่แมวคราวหรอกที่มีความหมายดีจนมีคนนำไปทำพิธีกรรม เพราะแมวทุกตัวก็ล้วนแล้วแต่มีความหมายดีๆ ในตัวเองเช่นกัน….
อยู่ที่ว่ามนุษย์อย่างเราเลือกจะมองเห็นหรือเปล่าเท่านั้นเอง