Web Exclusive
วิธีที่ดีที่สุดที่จะเป็นการยืนยันว่ามีพยาธิในทางเดินอาหาร คือ พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการเก็บอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อส่องหาไข่พยาธิที่ปนมากับอุจจาระ ซึ่งตามคำแนะนำแล้วควรจะมีการตรวจอุจจาระ และทำการถ่ายพยาธิ โดยให้กินยาถ่ายพยาธิในทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 3 เดือน

อาการแบบนี้…น้องหมาน้องแมวอาจมีพยาธิ

เรื่องและภาพ : howl the team

พยาธิในทางเดินอาหารเป็นปรสิตตัวร้าย ที่อาจจะอาศัยอยู่ภายในร่างกายสัตว์เลี้ยงของเราโดยที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน เนื่องจากไข่ของพยาธิในทางเดินอาหารมีขนาดเล็กมาก จนเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ รวมทั้งตัวเต็มวัยของพยาธิในทางเดินอาหารบางชนิด ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นกัน ถึงแม้ว่าตามปกติแล้วร่างกายของสัตว์จะมีกลไกในการป้องกันตนเองเป็นภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เจ้าพยาธิทางเดินอาหารเหล่านี้ทำอันตรายต่อร่างกายไม่ได้ แต่หากเราละเลยหรือปล่อยไว้โดยไม่ได้มีการรักษา หรือไม่มีการให้กินยาถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายอ่อนแอ หรือระยะท้ายของการตั้งท้อง พยาธิในทางเดินอาหารก็จะสามารถเพิ่มจำนวน และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จนสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงของเราเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะในลูกสัตว์ยิ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัยแล้ว

วิธีที่จะสังเกตเบื้องต้นว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีพยาธิในทางเดินอาหารที่อาจจะกำลังทำร้ายสุขภาพอยู่หรือไม่นั้น สามารถดูได้จากอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งพยาธิแต่ละชนิดอาจทำให้แสดงอาการได้ทุกแบบหรืออาจจะแสดงให้เห็นได้แค่บางอาการเท่านั้น

1. เจอตัวพยาธิในกองอุจจาระ: พบตัวพยาธิในอุจจาระ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดคือสังเกตอุจจาระของสัตว์เลี้ยง แต่สามารถเจอได้แค่พยาธิบางชนิดและอาจจะไม่พบหากไม่ได้มีอยู่ในปริมาณมาก

2. มีปล้องของพยาธิติดอยู่ที่ก้นเป็นเกล็ดขาวๆ: สังเกตที่บริเวณก้นหรือขนช่วงท้าย บางครั้งอาจพบปล้องของพยาธิตัวตืดที่หลุดออกมา อยู่ในบริเวณก้นของสัตว์เลี้ยง ยิ่งเป็นตัวที่มีพฤติกรรมชอบเที่ยวนอกบ้าน หรือเลี้ยงปล่อย จะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดพยาธิได้ง่าย

3. ชอบเอาก้นไถพื้น: คันบริเวณก้น โดยชอบไถก้นกับพื้นหรือพยายามไถกับเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ เนื่องจากพยาธิทางเดินอาหารสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองจนแสดงอาการคันออกมา

4. ลูกสุนัข, ลูกแมว ท้องกาง: ท้องขยายใหญ่ หรือท้องกาง ส่วนใหญ่สามารถพบได้ในลูกหมา หรือลูกแมว ที่ติดหรือได้รับพยาธิทางเดินอาหารมาจากแม่สุนัข หรือแม่แมวนี่เอง

5. อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ: สามารถพบได้ในสัตว์ป่วยที่มีพยาธิตัวกลมอยู่ในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมาก

6. ถ่ายเหลวปนมูก หรือปนเลือด: หรือหากรุนแรงอาจมีเลือดปนออกมาด้วย เนื่องจากเกิดการระคายเคือง และบาดแผลที่ลำไส้ จากการที่พยาธิอยู่ในทางเดินอาหารรวมทั้งกัดกินเลือดด้วย

7. ผอม ขนหยาบ โตช้า ไม่แข็งแรง: เนื่องจากพยาธิแย่งสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโต ร่างกายได้รับสารไม่เพียงพอ รวมทั้งจากภาวะเลือดจางจากการเสียเลือดอย่างเรื้อรัง

ที่กล่าวมา เป็นอาการที่อาจพบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสัตว์เลี้ยงของเราที่ไม่ได้แสดงอาการ จะไม่มีพยาธิในทางเดินอาหาร วิธีที่ดีที่สุดที่จะเป็นการยืนยันว่ามีพยาธิในทางเดินอาหาร คือ พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการเก็บอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อส่องหาไข่พยาธิที่ปนมากับอุจจาระ ซึ่งตามคำแนะนำแล้วควรจะมีการตรวจอุจจาระ และทำการถ่ายพยาธิ โดยให้กินยาถ่ายพยาธิในทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 3 เดือน ในตัวที่มีกิจกรรมนอกบ้านอยู่เป็นประจำเนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดพยาธิมากกว่า  และทุก ๆ 6 เดือน สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น สัตว์ที่เลี้ยงแต่ในบริเวณบ้านที่จำกัด และมีการทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ