Published on SPECIAL ISSUE
อาชาบำบัดได้ถือกำเนิดขึ้นในทวีทยุโปรและอเมริกาเหนือราวปีค.ศ. 1960 สำหรับประเทศไทยในตอนนี้เริ่มมีการนำม้ามาใช้บำบัดอย่างจริงจังบ้างแล้วในบางหน่วยงาน อย่างที่กรมการสัตว์ทหารบก

อาชาบำบัด (Hippotherapy)

เรื่อง : howl intern ภาพ : ชาพีช

อาชาบำบัด หรือ Hippotherapy คือ การใช้ม้าเข้ามาช่วยในการบำบัดรักษา หลายคนอาจจะเกิดคำถามเหมือนๆ กัน เมื่อเห็นคำว่า Hippotherapy แล้วคิดว่านี่คือ ฮิบโปบำบัดหรือเปล่า เพราะเราเองก็สงสัยเช่นกัน คำตอบก็คือ ที่ใช้คำนี้ก็เพราะว่า Hippo ในภาษากรีกนั้น แปลว่า ม้านั่นเอง            

ม้า เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับคนมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ  เป็นพาหนะในการเดินทาง และที่สำคัญคือ ม้ายังร่วมเป็นวีรบุรุษในการทำศึกสงครามในอดีตอีกด้วย จนมาถึงในปัจจุบันเราก็เริ่มนิยมนำม้ามาฝึกในการช่วยบำบัดเด็กสมาธิสั้นและเด็กออทิสติกมากขึ้น

อาชาบำบัดได้ถือกำเนิดขึ้นในทวีทยุโปรและอเมริกาเหนือราวปีค.ศ. 1960 สำหรับประเทศไทยในตอนนี้เริ่มมีการนำม้ามาใช้บำบัดอย่างจริงจังบ้างแล้วในบางหน่วยงาน อย่างที่กรมการสัตว์ทหารบก มีโครงการอาชาบำบัด เพื่อช่วยบำบัดเยาวชนที่มีความผิดปกติพิการทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์หรือเยาวชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น โครงสร้างร่างกายผิดปกติ สมาธิสั้น เด็กออทิสติก โดยนำม้าของชมรมนักกีฬาขี่ม้ากรมการสัตว์ทหารบกมาใช้บำบัดเยาวชนที่มีปัญหา

ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยอาชาบำบัด โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นบอกว่า ผู้ที่เข้ารับอาชาบำบัดจะมีพัฒนาการของทักษะทางสังคมมากขึ้น เริ่มมีการโต้ตอบในการสนทนา รู้จักทำตามคำสอนของครูฝึก แต่พัฒนาการจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเข้ารับการบำบัดของแต่ละตัวบุคคล ถ้าได้รับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอก็จะเห็นผลได้ดีมากขึ้น

เพราะการบำบัดด้วยม้าจะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างดี วิธีการก็คือ ให้เด็กฝึกทรงตัวอยู่บนหลังม้า เพราะปกติแล้วเด็กออทิสติกส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ การที่เราฝึกให้เด็กนั่งบนหลังม้าจะช่วยลดความวุ่นวายลงได้อย่างดี พวกเขาจะรู้สึกมีจิตใจที่สงบและมีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อทำได้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นและภูมิใจในตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย