Web Exclusive
เมื่อแรกเกิดลูกเต่าทะเลจะใช้แสงรำไรตรงขอบฟ้าที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นกำหนดทิศทางในการเคลื่อนที่ แต่ในปัจจุบันมีแสงไฟจากการประมงที่สว่างกว่า เลยอาจทำให้ลูกเต่าเข้าใจผิดและว่ายไปทางเรือประมงซึ่งส่งผลให้ติดอวนของชาวประมงได้

เต่าทะเล : ตำนานแห่งท้องทะเลไทยที่กำลังจะหายไป

เรื่อง : howl the team ภาพ : Shi sa

มีใครเคยเจอเต่าทะเลบ้าง

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเต่าทะเล แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จำนวนของเต่าทะเลกำลังลดลงเรื่อยๆ จากปัญหาเรื่องการถูกคุกคามแหล่งอาหารและวางไข่ การโดนทำร้ายและบาดเจ็บจากเครื่องมือการประมง และการเสียชีวิตจากการกินพลาสติก นี่ยังไม่รวมถึงการตั้งใจล่าเต่าทะเลเพื่อเอาเนื้อและกระดองไปขายอีกด้วย

เต่าทะเลทั่วโลกมีอยู่ทั้งหมด 8 ชนิด และน่าภาคภูมิใจว่าประเทศไทยเราสามารถพบสายพันธุ์เต่าทะเลได้ถึง 5 ชนิด ดังต่อไปนี้

1. เต่าตนุ : มีอีกชื่อคือเต่าแสงอาทิตย์ จะมีจงอยปากค่อนข้างทู่เมื่อเทียบกับเต่ากระ โตเต็มที่ความยาว 120 ซม. หนัก 150 กก. เต่าตนุโตเต็มวัยจะวางไข่ทุกๆ 2 ปี ในช่วงอายุ 14-25 ปี ตอนที่ยังเป็นลูกเต่า เต่าตนุจะกินสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร แต่เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะกินสาหร่ายและหญ้าทะเลเป็นอาหาร ดังนั้นการที่หญ้าทะเลถูกคุกคามจึงส่งผลต่อจำนวนเต่าตนุเป็นอย่างมาก

.

.

2. เต่ากระ : จุดเด่นคือจงอยปากแหลมงุ้มเหมือนเหยี่ยว ตอนเด็กๆ จะมีเล็บที่ขาหน้าและหลังข้างละ 2 อัน แต่เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆ ลดรูปจนหายไป โตเต็มที่ยาว 95 ซม. หนัก 60 กก. จะวางไข่ทุกๆ 2 ปี ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน อาหารหลักคือฟองน้ำและสัตว์น้ำเล็กๆ ในแนวปะการัง เต่าชนิดนี้จะมีการสะสมสารพิษจากอาหารที่กินทำให้ถ้าคนกินเนื้อเต่ากระเข้าไปอาจจะอันตรายถึงตายได้

.

.

3. เต่าหญ้า : กระดองสีเทาอมเขียว ไม่มีลวดลายมากเหมือนเต่ากระและเต่าตนุ เมื่อโตเต็มที่ขนาด 75-80 ซม. น้ำหนัก 50 กก. จัดว่าเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุด สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร อาหารหลักคือสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา วางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม เมื่อสมัยก่อนจะพบเต่าหญ้าวางไข่ที่ฝั่งทะเลอันดามันจำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลงมากจนเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

.

.

4. เต่าหัวฆ้อน : มีลักษณะคล้ายเต่าตนุและเต่าหญ้ามาก มีจุดต่างเพียงเกล็ดที่บริเวณหัวส่วนหน้าเท่านั้น โตเต็มวัยขนาด 95 ซม. หนัก 120 กก. ลูกเต่าแรกเกิดจะใช้ชีวิตอยู่ในกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรใหญ่ จนกระทั่งจะสืบพันธุ์และวางไข่จึงกลับขึ้นฝั่ง อาหารหลักคือ หอย ปู และหมึก ในสมัยก่อนเคยมีรายงานการวางไข่ที่ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว

.

.

5. เต่ามะเฟือง : มีจุดเด่นคือกระดองไม่เป็นเกล็ดแต่เป็นแผ่นหนังหนาสีดำ อาจจะมีแต้มสีขาวประๆ ทั่วตัว แนวกระดองเป็นสันนูนยาวรวม 7 สัน ตัวเต็มวัยยาว 210 ซม. หนักกว่า 900 กก. ถือเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วางไข่ในหาดทรายโล่งที่ไม่มีพืชมาปกคลุม อาหารหลักคือแมงกะพรุน ปัจจุบันในประเทศไทยพบเต่ามะเฟืองน้อยมากๆ และส่วนใหญ่เป็นเต่าเกยตื้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เต่ามะเฟืองจึงได้ยกระดับกลายเป็น 1 ใน 4 สัตว์สงวนชนิดใหม่ของประเทศไทย

.

.

ที่น่าสนใจคือเต่าทะเลจะสายตาสั้นเมื่ออยู่บนบก แต่สายตาดีขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำเพราะการหักเหของแสงในน้ำ ทำให้เต่าทะเลค่อนข้างไว้ต่อแสงไฟในทะเล เมื่อแรกเกิดลูกเต่าทะเลจะใช้แสงรำไรตรงขอบฟ้าที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นกำหนดทิศทางในการเคลื่อนที่ แต่ในปัจจุบันมีแสงไฟจากการประมงที่สว่างกว่า เลยอาจทำให้ลูกเต่าเข้าใจผิดและว่ายไปทางเรือประมงซึ่งส่งผลให้ติดอวนของชาวประมงได้

ปัจจุบันประชากรเต่าทะเลในประเทศไทยถือว่าลดน้อยลงจนน่าเป็นกังวล แม้ว่าเต่ามะเฟืองจะถูกยกระดับกลายเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่แล้วก็ตาม แต่ประชากรเต่าทะเลยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคุกคามเรื่องแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ แต่ก็มีข่าวดีคือเรามีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ ที่ยังคงทำงานหนักเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนเต่าทะเลต่อไป

หวังว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะพบเห็นเต่าทะเลมากขึ้นและมีทั้งทะเลและชายหาดที่สะอาดสำหรับให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเหมือนกันนะ