Web Exclusive
เสือโคร่งแต่ละตัวจะใช้อาณาเขตอยู่อาศัยกว่า 300 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ก็จะครอบคลุมสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด ดังนั้นการอนุรักษ์เสือโคร่งในป่าจึงเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นไปพร้อมกัน

เสือโคร่ง : พิทักษ์เสือ เพื่อพิทักษ์ป่า

เรื่อง : howl the team ภาพ : ชาพีช

เสือโคร่งคือราชานักล่าผู้อยู่ในจุดสูงสุด

แต่ถึงกระนั้นราชาก็กำลังย่ำแย่ เพราะจำนวนเสือโคร่งทั่วโลกได้ลดลงกว่า 1 แสนตัว จนตอนนี้เหลือเพียงแค่ 3200 ตัวเท่านั้น

เสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แม้จะมีชื่อว่าเสือโคร่ง แต่เสือโคร่งเองก็ถูกแบ่งออกเป็น 9 สายพันธุ์ย่อย แต่ที่ยังเหลือรอดอยู่ตอนนี้มี 6 สายพันธุ์ ส่วนอีก 3 สายพันธุ์ ได้สูญพันธุ์จากโลกนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สายพันธุ์เสือโคร่งที่พบในประเทศไทยมีเสือโคร่งอินโดจีนและเสือโคร่งมาลายู เชื่อกันว่าเสือโคร่งอินโดจีนเป็นบรรพบุรุษของเสือโคร่งทุกสายพันธุ์ ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เหลือเพียงแค่ประมาณ 350 ตัว ตามธรรมชาติ

แต่ถึงกระนั้นประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนเสือโคร่งอินโดจีนอาศัยอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด ถึงขนาดที่ว่าจำนวนเสือโคร่งอินโดจีนทั้งโลกกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าเมืองไทยเรานี้เอง โดยมีจำนวนมากที่สุดที่กลุ่มป่าตะวันตก (ห้วยขาแข้ง) จำนวน 90-117 ตัว กลุ่มภูเขียว-น้ำหนาว 1+ ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน 2+ ตัว และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 10-19 ตัว

โดยที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เป็นพื้นที่ที่พบเสือโคร่งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย มีการจัดตั้งโครงการอนุรักษ์เพาะพันธุ์ประชากรสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อสำรวจและติดตามสถานภาพของเสือโคร่งและสัตว์ป่าขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ทางโครงการมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนเสือโคร่งให้ได้ 50% ภายในปี พ.ศ.2569 ปัจจุบันมีเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่มากถึง 19 ตัวแล้ว

ส่วนสถานภาพของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงนั้น ตอนนี้มีในสวนสัตว์ทั้งหมด 1422 ตัว และผู้แจ้งครอบครองเสือโคร่ง 193 ตัว ซึ่งทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เข้าตรวจสอบและลงทะเบียนเสือโคร่งไว้ทั้งหมด ในปัจจุบันยังคงมีการถกเถียงเรื่องแนวทางการเพาะเลี้ยงเสือโคร่งในกรงเลี้ยงเพื่อปล่อยเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา

ความสำคัญของการอนุรักษ์เสือโคร่งคือเสือโคร่งเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในป่า เสือโคร่งแต่ละตัวจะใช้อาณาเขตอยู่อาศัยกว่า 300 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ก็จะครอบคลุมสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด ดังนั้นการอนุรักษ์เสือโคร่งในป่าจึงเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นไปพร้อมกัน

ดังนั้นคงไม่ผิดมากนักหากเราบอกว่า เพราะมีเสือ….จึงมีป่า                

และเพราะมีป่า….เราจึงมีชีวิต