Published on SPECIAL ISSUE
ผมเป็นคนชอบดื่ม ชอบเมา แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ ผมก็เลยทำร้านแบบนี้ออกมา ผมคิดว่าผมต้องเป็นตัวเองก่อน ถ้าเราเป็นตัวเองไม่ได้ เราก็เป็นคนอื่นไม่ได้

Zombie Books : ร้านหนังสือจากชายลึกลับ

เรื่องและภาพ : howl the team

มีร้านหนังสือเปิดอยู่ในย่าน RCA

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีเสียงร่ำลือจากหมู่นักอ่านหนังสือว่ามีร้านหนังสือร้านหนึ่งหาญกล้ามาเปิดอยู่ในใจกลาง RCA ย่านน้ำเมาสุดมันส์ของเหล่าวัยรุ่น ที่หลายครั้งชวนให้เลิกคิ้วว่าเรื่องนี้มันเรื่องจริงหรือ

เช่นเดียวกับเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง ที่บ้างก็ว่าเขาเป็นเจ้าของร้านเหล้า บ้างก็ว่าเขาเป็นบาร์เทนเดอร์ บ้างก็ว่าเขาเป็นนักเดินทางที่ร่อนเร่ไปมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ บ้างก็ว่าเขาเป็นติวเตอร์สอนคณิตศาสตร์ บางครั้งก็มีคนบอกว่าเขาเป็นนักเขียน แต่ไม่มีใครรู้เรื่องราวที่แท้จริงของชายหนุ่มคนนี้ ข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่ร่ำลือกันนั้นบอกเพียงแต่ว่าเขาเคยอยู่ในหลากหลายวงการ และเป็นชายลึกลับผู้ไม่เคยเผยภาพและชื่อจริงให้ใครได้เห็น

ยามบ่ายวันเสาร์กลางเดือน เราได้ยืนอยู่กลางย่าน RCA ตรงหน้าคือร้านหนังสือ Zombie Book ภาพในสายตาของเราได้พิสูจน์แล้วว่าเสียงร่ำลือของนักอ่านในช่วง 3 – 4 เดือนมานี้ เป็นเรื่องจริง

แต่ยังมีเรื่องที่เราอยากพิสูจน์อีกเรื่อง…เกี่ยวกับชายลึกลับคนนั้น

ชายลึกลับผู้เป็นเจ้าของร้าน Zombie Book แห่งนี้

 

img_4957

 

คุณโต้ง หรือ พี่โต้ง – เราได้รับอนุญาตให้แนะนำชื่อของเขาได้เพียงเท่านี้ อีกทั้งเขายังไม่อนุญาตให้เก็บภาพใดๆ เกี่ยวกับตัวเขา แต่เราขอยืนยันว่าชายที่อยู่ตรงหน้าของเราตอนนี้เป็นเจ้าของร้าน Zombie Book

เขาคือชายลึกลับ ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในหลายวงการ หากให้มองอย่างผิวเผิน บางครั้งบางคราเขาก็เหมือนนักเขียนหรือนักดนตรี แต่หากให้มองอีกครั้งเขาก็มีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจ บางครั้งเขาอาจพูดจาเสียงดังเปิดเผย แต่เขาก็กลับดูลึกลับและแง่มุมที่หยั่งไม่ถึงอยู่ในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดาว่าในอดีตเขาเคยทำอาชีพอะไรมาบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุด ณ ตอนนี้-เรารู้ว่า ชายหนุ่มลึกลับ – คุณโต้ง กำลังทำร้านหนังสือ Zombie Book ร้านหนังสือกลางย่าน RCA แห่งนี้อยู่

“ตอนแรกจริงๆ ผมอยากทำร้านออนไลน์ แต่มีผู้ใหญ่แนะนำมาว่าทำออนไลน์ยังไงก็ต้องมีที่เก็บหนังสือ ถ้าไหนๆ ก็ต้องมีสต็อกเก็บหนังสือแล้วก็ทำเป็นร้านหนังสือไปเลยดีกว่า”คุณโต้งเล่าถึงที่มาของร้าน “ก็เลยคิดต่อว่าเป็นที่ไหนดี เพราะร้านหนังสือในประเทศไทยส่วนใหญ่ชอบไปอยู่ใกล้วัด ไม่ก็สถานที่สงบๆ วังเวง กลายเป็นว่าต้องไปร้านหนังสืออย่างเดียวแล้วก็จบเลย ไปไหนต่อไม่ได้แล้ว กลับบ้านอย่างเดียว ผมเลยคิดว่าไหนๆ ทำทั้งทีแล้ว ก็เอาที่ RCA แม่งเลย เผื่อซื้อหนังสือเสร็จแล้วไปดูหนังต่อก็ได้ หรือมาที่ร้านผมแล้วผิดหวังก็กินเหล้าต่อเลยละกัน ผมอยากทำให้เห็นว่าถ้ามาที่ร้านนี้แล้วเบื่อก็สามารถไปที่อื่นต่อได้ ไปทำกิจกรรมอื่นที่คุณอยากทำก็ได้ ไม่ใช่นั่งรถไปร้านหนังสือ ซื้อเสร็จแล้วก็กลับ”

ความแตกต่างของร้าน Zombie Book นอกจากจะเป็นเรื่องโลเคชั่นที่ไม่ธรรมดาแล้ว ภายในตัวร้านก็มีความแตกต่าง ด้วยคอนเสปที่คุณโต้งบอกว่านอกจากรอบๆ ร้านไม่น่าเบื่อแล้ว ในร้านเขาก็ไม่อยากให้น่าเบื่อเช่นกัน ทำให้ภายในร้านนั้นนอกจากชั้นที่ 1 เป็นร้านหนังสือที่อุดมไปด้วยหนังสือวรรณกรรมแปลหลากหลายประเภทแล้ว ชั้นที่ 2 เขาได้ทำเป็น co-working space ให้ใครมาใช้ก็ได้ หรือเปลี่ยนเป็นแกลลอรี่จัดแสดงผลงานได้อีกด้วย

 

img_5034

 

ถัดขึ้นไปถึงชั้น 3 ของร้านแห่งนี้เป็นบาร์เหล้า บรรยากาศครึ้มถูกใจนักดื่ม ที่จะมีนักดนตรีมีฝีมือมาเล่นในช่วงสุดสัปดาห์ เป็นความหลากหลายที่อยู่กันอย่างลงตัว นอกจากนี้คุณโต้งยังมีความคิดจะเปลี่ยนชั้นลอยเป็นไวนิล คลับอีกด้วย

“ผมพยายามทำให้ตัวร้านแห่งนี้ไม่น่าเบื่อ ที่นี่ไม่ใช่เป็นแค่ร้านหนังสือเฉยๆ หากแต่เป็น co-working space ด้วย มีที่ให้อ่านหนังสือได้ด้วย มีบาร์เหล้าให้คนดื่มได้ด้วย นอกจากรอบข้างไม่น่าเบื่อ ตัวเองก็ไม่น่าเบื่อด้วย เบื่อผมก็ออกไปดูหนัง ถ้าคิดถึงผมก็กลับมาที่ร้านใหม่”

เมื่อเราถามว่าการทำร้านหนังสือกับบาร์เหล้านั้นไม่ขัดแย้งกันเองหรือ คุณโต้งก็ยิ้มแล้วอธิบายให้เราฟัง

“ต้องบอกว่าผมทำร้านจากความต้องการของตัวเอง ผมเป็นคนชอบดื่ม ชอบเมา แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ ผมก็เลยทำร้านแบบนี้ออกมา ผมคิดว่าผมต้องเป็นตัวเองก่อน ถ้าเราเป็นตัวเองไม่ได้ เราก็เป็นคนอื่นไม่ได้”ชายหนุ่มตรงหน้าพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“ความเป็นตัวเองของผมคือเป็นคนชอบดื่ม ก็ทำให้ผมรู้ว่าคนดนตรีชอบแนวไหน อีกเรื่องคือผมชอบอ่านหนังสือ ผมก็รู้ว่าคนอ่านหนังสือชอบแบบไหน ผมแค่หาคนที่ชอบเหมือนกับผมเท่านั้นเอง เชื่อว่าแค่นั้นก็พอแล้ว”

 

img_5093

 

ขึ้นชื่อว่าร้านหนังสือแล้ว ดาวเด่นในร้านย่อมคือหนังสือ ที่ Zombie Book นั้น หนังสือส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมแปลและวรรณกรรมไทย มีทั้งนักเขียนที่รู้จักกัน นักเขียนระดับรุ่นเก๋าของเมืองไทย และผลงานหนังสือที่เขาชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ซึ่งจากเรื่องที่เขาเล่าตรงนี้เองทำให้เราทราบเรื่องราวเกี่ยวกับเขาเพิ่มเติมว่าในอดีตเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์กำมะหยี่ กับคุณมิว-อธิชา มัญชุนากร (กาบูล็อง) อีกด้วย

“โดยส่วนตัวผมชอบเรื่อง ดอนฆีโกเต้ นะ ฤทธิ์มีดสั้น หรือ ไหม (seta) ก็ชอบ ทำให้หนังสือส่วนใหญ่ภายในร้านเป็นวรรณกรรมแปล โดยเฉพาะหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ อันนี้ผมชอบหนังสือของเขามาก ก็เลยเอามาลง อย่างสำนักพิมพ์มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมที่พิมพ์หนังสือ into the wild ผมก็ชอบ เลยหามาไว้ที่ร้าน”

 

 

นอกจากที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้ และเคยผ่านการทำอาชีพที่หลากหลายในอดีตมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราสามารถยืนยันได้คือเขาเคยเป็น – และบางทียังคงเป็นนักเขียนด้วย ด้วยความที่เขาได้ย่างเท้าเหยียบในทุกกระบวนการทำหนังสือทำให้ชายคนนี้เข้าใจถึงปัญหาในหลากหลายแง่มุม

เช่นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสัปดาห์งานหนังสือแห่งชาติที่หลายคนค่อนขอดว่าการลดราคาหนังสือภายในงานเป็นการทำร้ายร้านหนังสือ เพราะคนส่วนใหญ่จะรอไปซื้อหนังสือลดราคาทีเดียวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแทน เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยเชื่ออะไรแบบนั้นเลย

“ผมเข้าใจว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องของการเอาตัวรอดนะ ใครอยากทำอะไรก็ทำเถอะ ส่วนเรื่องที่ว่านักอ่านรอไปซื้อที่สัปดาห์หนังสือแห่งชาติอย่างเดียวผมว่ามันไร้สาระ ถ้าถามผม งานสัปดาห์หนังสือจัดได้ไม่มีปัญหาอะไร ใครจะทำอะไรก็ได้ให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นก็โอเคแล้ว เพราะร้านหนังสือก็ควรอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าร้านคุณเจ๊งไปก็ควรโทษตัวเอง ไม่ใช่โทษคนอื่น”คุณโต้งพูดจริงจัง

“แต่สำนักพิมพ์ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าเปิดสำนักพิมพ์แล้วออกหนังสือปีละ 2 ครั้ง อย่างนี้ไม่ดีแล้ว การมีงานหนังสือไม่มีปัญหาหรอก แต่ระหว่างงานหนังสือก็ช่วยออกหนังสือบ้าง หนังสือเป็นงานศิลปะ ไม่ใช่ผลไม้ จะได้ออกมาเป็นฤดูกาล ผมว่ามันไม่ถูกต้องตรงนี้ สำนักพิมพ์ต้องรับผิดชอบคนอ่าน ต้องมีหนังสือมาให้นักอ่านอยู่เรื่อยๆ”ชายตรงหน้าเรากล่าวอย่างออกรส

 

 

นอกจากเรื่องสัปดาห์งานหนังสือแล้ว เรายังคงคุยถึงวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทยและการเข้ามาของ E-Book ซึ่งสั่นคลอนธุรกิจร้านหนังสือซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำ แต่เขากลับมองในอีกแง่หนึ่ง

“เรื่องหนังสือออนไลน์ ถ้าใครติดตามข่าวจะเห็นว่ายอดขายหนังสือออนไลน์ของ Amazon นี่เริ่มลดแล้วนะ เพราะเสน่ห์ของการอ่านหนังสือมันอยู่ที่สัมผัส การได้พลิกกระดาษไง ส่วนเรื่องการเปิดร้านหนังสือในยุคนี้ที่คนอื่นเขาบอกว่าเสี่ยง ไม่สร้างกำไร ผมไม่เชื่อนะ เพราะว่าร้านหนังสือมีช่องทางในการทำกำไรอยู่ เพียงแต่ว่าคนยังทำไม่ถึงเท่านั้นเอง”คุณโต้งแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะวกกลับมาที่เรื่องวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทย

“ผมว่าตอนนี้ถึงยุคของเนิร์ดนะ คือต้องมีความรู้ลึกรู้จริง ไม่ใช่อ่านจากเฟซบุ๊กมาอย่างเดียว เรื่องในเฟซบุ๊กจะหลอกเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต้องค้นคว้า ต้องอ่านหนังสือ ด้วยวัฒนธรรมฝรั่งที่เริ่มเข้ามา ทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มอ่านหนังสือกันมากขึ้น ผมเชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นนะ”คุณโต้งยิ้มน้อยๆ

 

 

ทั้งจากเรื่องเล่า ทั้งแง่มุมความคิดและทัศนคติ เราเชื่อว่าชายคนนี้ได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องที่เขาได้เล่าและไม่ได้เล่าให้เราฟัง  ทั้งเรื่องที่ทำสำเร็จและเรื่องที่ล้มเหลว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือเขายังคงทำทุกอย่างที่มีอยู่ตรงนี้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับปรัชญาการใช้ชีวิตที่เขาบอกไว้ตอนหนึ่งระหว่างที่คุยกันว่า เขาใช้ชีวิตเหมือนกับทุกวันเป็นวันสุดท้าย

อาจเพราะ คุณโต้ง-ชายลึกลับคนนี้ รู้ว่าเขาไม่ได้มีแค่ชีวิตเดียว หากวันนี้คือวันสุดท้ายที่เขาต้องล้มลง เราเชื่อว่าพรุ่งนี้เขาก็จะยังคงลุกขึ้นมาใหม่ อาจจะใต้เสียงใบไม้ไหว ดัง 10 เดซิเบล

ไม่ว่าจะในฐานะของนักเขียน เจ้าของร้านหนังสือ หรือคนทำสำนักพิมพ์

เขาก็คงเป็นซอมบี้ ลุกขึ้นมาแพร่เชื้อให้คนมาอ่านหนังสือกันต่อไป