Web Exclusive
การตายของ “เจ้าแทม” กระซู่ตัวสุดท้ายของประเทศมาเลเซียเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ตั้งใจที่จะเริ่มออกค้นหากระซู่ตัวอื่นๆ ในธรรมชาติอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งจะมุ่งความสนใจไปที่กระซู่กลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย

กระซู่ – ถึงจะมี 2 นอ แต่ก็ไม่ขอสู้กับใคร

เรื่อง : howl the team ภาพ : ชาพีช

กระซู่ หรือแรดสุมาตรา เป็นแรดขนาดเล็ก ลักษณะเด่นคือมีนอ 2 อันเรียงตัวเป็นแนวเดียวกันบนสันจมูก และมีขนยาวปกคลุมทั่วตัว จนบางครั้งถูกเรียกว่า “แรดขน”

แม้ว่าจะมีถึง 2 นอ แต่นอดังกล่าวกลับไม่ได้มีไว้สำหรับพุ่งชนต่อสู้เหมือนกับนอของแรดชนิดอื่น แต่เพียงมีไว้สำหรับดันสิ่งกีดขวางเท่านั้น เพราะโดยปกติแล้วกระซู่เป็นสัตว์ขี้ตื่น ไม่ชอบสู้ และรักสันโดษเป็นอย่างยิ่ง เวลาหนึ่งวันของกระซู่มักจะหมดไปกับการนอนแช่ปลักโคลน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายและป้องกันผิวหนังจากปรสิตต่างๆ นอกจากนี้กระซู่ยังเป็นนักว่ายน้ำและนักปีนเขาตัวยงอีกด้วย

แหล่งที่อยู่อาศัยของกระซู่ค่อนข้างกระจายตัวทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบอินโดจีนจนถึงมลายู และบนเกาะสุมาตรา ในประเทศไทยเองก็เคยมีรายงานการพบกระซู่ในเขตอุทยานหลายแห่ง แต่ในปัจจุบันจากรายงานล่าสุด ปี พ.ศ.  2540 พบกระซู่หลงเหลืออยู่แค่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการพบเห็นกระซู่อีกเลย ทำให้ IUCN จัดให้กระซู่เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Critically Endangered)

ถึงแม้ว่าในธรรมชาติเราจะสามารถพบกระซู่ได้มากกว่าแรดชวา แต่อย่างไรก็ดีการที่กระซู่ก็เป็นสัตว์ที่มีนอเช่นเดียวกับแรดชนิดอื่นๆ อีกทั้งพฤติกรรมที่เชื่องช้า การออกหากินและอาศัยอยู่แค่ในพื้นที่เดิมๆ จึงเป็นสาเหตุให้กระซู่ตกเป็นเหยื่อของนายพรานโดยง่ายดายไม่ต่างอะไรกับกวางป่า

และด้วยนิสัยที่รักสันโดษมากจึงทำให้กระซู่มีโอกาสผสมพันธุ์ตามธรรมชาติน้อยกว่าแรดชนิดอื่นๆ จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบว่ากระซู่ในธรรมชาติมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ผิดกับจำนวนของแรดชวาที่ถึงแม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีจะมีจำนวนน้อยกว่ากระซู่ก็ตาม และจากข้อมูลการสำรวจล่าสุดพบว่า กระซู่ทั่วโลกที่เหลืออยู่ตอนนี้อาจมีจำนวนไม่ถึง 300 ตัวเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้เหตุการณ์การตายของ “เจ้าแทม” กระซู่ตัวสุดท้ายของประเทศมาเลเซียเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ตั้งใจที่จะเริ่มออกค้นหากระซู่ตัวอื่นๆ ในธรรมชาติอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งจะมุ่งความสนใจไปที่กระซู่กลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยวางแผนว่าจะใช้มาตรการทั้งหมดในการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการปกป้องกระซู่ในธรรมชาติ การเพิ่มการผสมพันธุ์ในพื้นที่ปิด และการปลูกฝังให้คนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของกระซู่ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์กระซู่ไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติต่อไป

เพราะกระซู่เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบสู้กับใคร ดังนั้นตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่คนเราจะต้องออกมาสู้เพื่อกระซู่บ้าง