Web Exclusive
นกกระเรียนไทยชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้พวกมันอาศัยอยู่ตามนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นภารกิจสำคัญของการอนุรักษ์นกกระเรียนไทยคือการทำให้นกที่น่าทึ่งพันธุ์นี้อาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้

นกกระเรียนไทย : วิถีชีวิตร่วมกันของชาวบ้านและนกกระเรียน

เรื่อง : howl the team ภาพ : ชาพีช

หากใครได้เห็นนกกระเรียนไทยในธรรมชาติซักครั้ง จะติดตากับความสง่างามไปไม่รู้ลืม

นกกระเรียนบนโลกมีอยู่หลายชนิด แต่นกกระเรียนไทยเป็นสายพันธุ์นกกระเรียนที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุด เมื่อยืนแล้วสูงเกือบ 1.8 เมตร หรือพอๆ กับผู้ชายตัวสูงๆ เลยทีเดียว

เคยมีบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนนับหมื่นตัว ที่ทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา แต่จากนั้นเป็นต้นมาจำนวนของนกกระเรียนก็ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จากการถูกทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและการล่า ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่และชอบอยู่ในพื้นที่โล่ง เช่น ตามทุ่งนาและหนองน้ำ เลยทำให้พวกมันตกเป็นเป้าการล่าได้ง่ายและถูกล่าไปเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์ของนกกระเรียนได้เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตเมื่อปี พ.ศ.2488 มีการพบนกกระเรียนฝูงสุดท้าย จากนั้นในปี พ.ศ. 2507 พบนกกระเรียนเหลือแค่ 4 ตัวที่วัดในสวนจังหวัดปทุมธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พบลูกนกกระเรียน 2 ตัวที่ชายแดนไทย – กัมพูชา ทางการไทยจึงได้นำมาเลี้ยงดูในกรงเลี้ยง แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นนกกระเรียนไทยในธรรมชาติอีกเลย

แม้ว่านกกระเรียนในธรรมชาติจะสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่ก็ยังพอมีความหวังเริ่มส่องมาอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2535 ได้มีนักวิจัยจากสวนสัตว์นครราชสีมา นำนกกระเรียนไทยที่ยังพอพบเห็นได้ตามธรรมชาติที่กัมพูชา มาลองเพาะเลี้ยง โดยได้พ่อแม่พันธุ์มาทั้งหมด 27 ตัว

หลังความพยายามลองผิดลองถูกนานกว่า 7 ปี ก็สามารถให้กำเนิดลูกนกกระเรียนไทยในศูนย์เพาะเลี้ยงได้สำเร็จ จากนั้นได้มีการสานต่อความพยายามมาเรื่อยๆ อีกกว่า 10 ปี จนในที่สุดก็สามารถเพาะพันธุ์นกกระเรียนไทยขึ้นมาในจำนวนที่น่าพอใจ ทำให้ตอนนี้สวนสัตว์นครราชสีมากลายเป็นศูนย์เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

แต่ถึงกระนั้นเป้าหมายสูงสุดของเหล่าผู้เพาะพันธุ์นกกระเรียนไทย ไม่ใช่แค่การเห็นพวกมันในกรงเลี้ยง หากแต่เป็นฝูงนกกระเรียนที่บินอย่างอิสระในธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อเพาะพันธุ์นกกระเรียนได้มากพอ ทางทีมงานจึงได้ทดลองปล่อยนกกระเรียนกลับถิ่นที่อยู่ตามแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นบ้านของพวกเขา ผลลัพธ์นับว่าน่าพอใจมากเพราะถึงตอนนี้ได้มีการปล่อยไปทั้งหมด 86 ตัว อัตราการรอดชีวิตกว่า 60%

นกกระเรียนไทยชอบอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้พวกมันอาศัยอยู่ตามนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นขั้นตอนต่อไปของการอนุรักษ์นกกระเรียนไทยคือการทำให้นกที่น่าทึ่งพันธุ์นี้อาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้ ในตอนนี้ได้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านถึงความสำคัญของนกกระเรียนและระบบนิเวศ รวมไปถึงมาตรการทางภาครัฐที่จะมอบเงินชดเชยให้กับนาข้าวที่ถูกนกกระเรียนไทยเหยียบย่ำเสียหาย และการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนกกระเรียนไทยมากขึ้นด้วย

ไม่แน่ว่าในอนาคต ประเทศไทยอาจจะเป็นแหล่งชมนกกระเรียนระดับโลก สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล ที่จะทำให้ทั้งนกกระเรียนไทยและชาวบ้านในพื้นที่มีรอยยิ้ม

และอยู่ร่วมกันได้ตลอดไป